นายกรีฑา ชูทับทิม กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่า สภาวะราคาไข่ไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้น 10-20 สตางค์ ทำให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มในปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 3.30 บาทต่อฟองนั้น มีสาเหตุมาจากอัตราการบริโภคที่มากขึ้นในช่วงเทศกาลสารทจีน วันที่ 21 สิงหาคมนี้ เนื่องจากนิยมใช้ไก่เนื้อในพิธีไหว้ ซึ่งสวนทางกับปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากผู้เลี้ยงไก่ไข่ ขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2555 จากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้แต่ละรายมีการเลี้ยงไก่ไข่น้อยลงร้อยละ 10-20 ส่งผลให้ปริมาณไข่ไก่ลดลงมากถึงกว่าร้อยละ 15-25 นอกจากนี้ ราคาไก่ปลดหน้าฟาร์มที่สูงถึง 45-48 บาทต่อกิโลกรัมในขณะนี้ แพงกว่าปีที่แล้วกิโลกรัมละ 15-18 บาท ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญ ทำให้เกษตรกรมีการปลดแม่ไก่ก่อนเวลา ส่งผลต่อปริมาณไข่ไก่ที่ลดน้อยลงไปอีก ขณะเดียวกัน เกษตรกรบางรายยังเร่งปรับตัวรับสถานการณ์การบริโภคไข่ไก่ในช่วงช่วงเทศกาลกินเจในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งการบริโภคจะลดลงกว่าร้อยละ 10-20 ด้วยการปลดแม่ไก่ยืนกรงบางส่วน เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับตลาดในพื้นที่ในช่วงดังกล่าว
“การปลดแม่ไก่เร็วขึ้น ก็ถือว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไข่ไก่ออกสู่ตลาดน้อยลง แต่เชื่อว่าเป็นสถานการณ์แค่ช่วงสั้นๆ คาดว่าหลังจากเทศกาลสารทจีนไปแล้ว ราคาไข่ไก่จะปรับตัวลดลง และยิ่งจะลดลงมากในช่วงเทศกาลกินเจ วอนผู้บริโภคเห็นใจเพราะราคาในช่วงนี้ยังไม่สามารถทดแทนช่วงเวลาที่เกษตรกรต้องแบกรับภาวะขาดทุนด้วยซ้ำ ที่สำคัญค่าไฟฟ้าและน้ำมันที่สูงขึ้น ยังถือเป็นอีกหนึ่งต้นทุนหลักของเกษตรกร”
ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงไก่ไข่ย้ำว่าการขายไข่ไก่ยังเป็นไปตามราคาแนะนำของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มฟองละ 3.30 บาท แต่กว่าจะถึงมือผู้บริโภค ยังมีอีกหลายกลไก ทำให้รู้สึกว่าไข่ไก่ในท้องตลาดแพง อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ก็ยังคงดูแลทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว
ด้านคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์? (กกร.) ได้ออกประกาศเรื่องราคารับซื้อ และราคาจำหน่ายสุกร เนื้อสุกร เพื่อดูแลราคาเนื้อหมูในช่วงเทศกาลสารทจีน ด้วยการกำหนดราคาแนะนำระหว่างวันที่ 15-20 ส.ค.2556 โดยสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันตก ไม่ต่ำกว่าราคากิโลกรัมละ 71 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ต่ำกว่าราคากิโลกรัมละ 72 บาท ภาคตะวันออกไม่ต่ำกว่าราคากิโลกรัมละ 73 บาท ส่วนภาคใต้ไม่ต่ำกว่าราคากิโลกรัมละ 75 บาท และภาคเหนือไม่ต่ำกว่าราคากิโลกรัมละ 74 บาท ซึ่งส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรภาคกลางอยู่ที่กิโลกรัมละไม่เกิน 130 บาท ส่วนต่างจังหวัดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 141-150 บาท
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสารทจีนซึ่งผู้บริโภคบางส่วนใช้เนื้อสุกรในพิธีไหว้นั้น ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 จากช่วงเวลาปกติ หรือประมาณวันละ 43,000-45,000 บาท ซึ่งทำให้ผู้เลี้ยงมีกำไรประมาณ 12.5% เมื่อเทียบกับต้นทุนที่กิโลกรัมละ 60-62 บาท โดยกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรพร้อมให้ความร่วมมือกับ กระทรวงพาณิชย์ ในการดูแลราคาเนื้อสุกร ให้อยู่ในราคาที่กรมการค้าภายในกำหนด อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากเทศกาลสารทจีนปริมาณสุกรขุนที่ออกสู่ตลาดก็ยังไม่มากนัก เนื่องจากความเสียหายของลูกสุกรจากภาวะโรคระบาดในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังคงเชื่อว่าหลังเทศกาลสาทรจีนราคาสุกรจะปรับลดลง.