ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “ธ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” ที่ “A-” ด้วยแนวโน้ม "Stable”

พุธ ๒๑ สิงหาคม ๒๐๑๓ ๑๓:๔๕
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A-” ให้แก่ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยธนาคารเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG) ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังการปรับสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ครบวงจรในปี 2554 อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่ธนาคารมีสินเชื่อที่กระจายตัวมากขึ้น รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี เงินทุนที่แข็งแกร่ง และการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ถือหุ้นหลักของ LHFG อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอ รวมทั้งมูลค่าเครือข่ายธุรกิจ (Franchise Value) ในระดับต่ำจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินรับฝากขนาดเล็ก ตลอดจนเครือข่ายการให้บริการจำนวนน้อย และฐานรายได้ที่มีการกระจายตัวต่ำ นอกจากนี้ ธนาคารยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตลอดจนความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะสามารถขยายสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดรายได้อย่างมั่นคงในระยะกลาง แนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนพื้นฐานของความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ภายหลังการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อธุรกิจและ SME รวมทั้งความสามารถในการรักษาฐานเงินทุนที่มั่นคงไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เริ่มดำเนินธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อยในเดือนธันวาคม 2548 และสามารถขยายขอบเขตธุรกิจเพิ่มขึ้นภายหลังได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ครบวงจรในเดือนธันวาคม 2554 ธนาคารดำรงบทบาทสำคัญในฐานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ LHFG โดย LHFG เป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในธุรกิจทางการเงินของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ณ เดือนเมษายน 2556 ผู้ถือหุ้นหลักของ LHFG ได้แก่ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิตระดับ “A” จากทริสเรทติ้ง) บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต “A-”) และนางสาวเพียงใจหาญพาณิชย์ โดยแต่ละรายถือหุ้นในสัดส่วน 34.39% 21.60% และ 16.68% ตามลำดับ ธนาคารมีขนาดสินทรัพย์เกือบเล็กที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย โดยอยู่ในอันดับที่ 14 จากทั้งสิ้น 15 แห่ง ณ เดือนมีนาคม 2556 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับสินเชื่อ 1.0% และเงินรับฝาก 0.9% ในฐานะเป็นธนาคารใหม่ ธนาคารมีเครือข่ายที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศรายอื่น อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ขยายสาขาอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายให้มีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารยังได้พัฒนาระบบปฏิบัติการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นด้วย

ธนาคารเติบโตอย่างรวดเร็วภายหลังการเพิ่มทุนและปรับเลื่อนสถานะ โดยสินเชื่อขยายตัวอย่างมากถึง 57% ในปี 2555 และยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับมีจำนวน 90.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% เทียบกับ 59.6 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2555 กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีบริษัทในเครือที่มีความเกี่ยวข้องกัน อาทิ บริษัทชั้นนำที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้าน ซึ่งช่วยธนาคารในการขยายธุรกิจและฐานลูกค้าได้เป็นอย่างดี ในช่วงปี 2549-2554 ธนาคารมุ่งเน้นขยายสินเชื่อผ่านสินเชื่อเพื่อการเคหะ แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ภายหลังการปรับสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ครบวงจร โดยมุ่งเน้นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้มากขึ้น นอกจากนี้ สินเชื่อของธนาคารยังมีการกระจายตัวมากขึ้น อีกทั้งธนาคารยังปรับสัดส่วนของสินเชื่อโดยการเพิ่มสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงเข้ามาด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 สินเชื่อธุรกิจของธนาคารมีสัดส่วน 41% ในขณะที่สินเชื่อ SME มีสัดส่วน 22% และสินเชื่อรายย่อยมี 37%

สินทรัพย์ของธนาคารยังคงมีคุณภาพที่ดี ณ เดือนมีนาคม 2556 ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเท่ากับ 1.87% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง (ไม่รวมธนาคาร 4 แห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ที่ 2.97% ธนาคารดำรงเงินกองทุนและสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้เพียงพอสำหรับรองรับการเสื่อมค่าของสินทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPAs -- สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) คิดเป็น 24% ของเงินกองทุนซึ่งรวมสำรองหนี้สงสัยจะสูญ โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 39% อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงระหว่างการขยายตัวของสินเชื่ออย่างรวดเร็วท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรงยังคงเป็นสิ่งท้าทายสำหรับธนาคาร

ฐานะทางการเงินของธนาคารดีขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 681 ล้านบาทในปี 2555 เพิ่มขึ้น 36% กำไรสุทธิสำหรับงวด 3 เดือนแรกของปี 2556 มีจำนวน 205 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการควบคุมต้นทุนดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารยังคงอ่อนแอเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 2555 เท่ากับ 1.65% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงจาก 0.70% ในปี 2554 เป็น 0.67% ในปี 2555 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1.41% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยสำหรับงวด

ไตรมาสแรกของปี 2556 (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) เท่ากับ 0.16% ลดลงเล็กน้อยจาก 0.19% ในงวดเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง คาดว่าธนาคารจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นทีละน้อยได้ในระยะกลาง

แหล่งเงินทุนของธนาคารประกอบด้วยเงินรับฝาก (72%) เงินกู้ยืมระหว่างธนาคารและตลาดเงิน (17%) และส่วนของผู้ถือหุ้น (11%) ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่งจากการมีหนี้สินที่มีอายุครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือนมากกว่าสินทรัพย์ที่มีอายุครบกำหนดในช่วงเวลาเดียวกันอย่างไรก็ตาม ธนาคารพยายามเพิ่มสัดส่วนเงินฝากรายย่อยให้มากขึ้นเพื่อให้ฐานเงินทุนมีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น

ธนาคารมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในระยะกลาง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับ 15.72% เงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับ 15.72% และเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับ 16.34% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 4.50% 6.00% และ 8.50% ตามลำดับ

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH BANK)

อันดับเครดิตองค์กร: A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ