ธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 11 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 1.9% และเงินรับฝากที่ 1.6% ณ เดือนมีนาคม 2556 ธนาคารสามารถบริหารจัดการธุรกิจหลัก ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้เป็นอย่างดี ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของฝ่ายบริหาร นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555 ธนาคารประสบความสำเร็จในการรวมกิจการกับ บริษัท ทุนภัทรและบริษัทย่อยคือ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตของธนาคาร ทั้งนี้ บล. ภัทรซึ่งถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัททุนภัทร เป็นบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของไทย โดยมีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในไตรมาสแรกของปี 2556 มากเป็นอันดับ 11 จากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 33 แห่ง บล. ภัทรมีความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจค้าหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ ส่งผลให้ธนาคารมีศักยภาพทางการแข่งขันในธุรกิจตลาดทุนเพิ่มขึ้น และสามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้ โครงสร้างรายได้ของกลุ่มเกียรตินาคิน-ภัทรยังกระจายตัวได้ดียิ่งขึ้นจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในธุรกิจตลาดทุน อย่างไรก็ตาม ธนาคารเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภายหลังการรวมกิจการเนื่องจากมีการปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งนี้ สถานะทางธุรกิจและการเงินของธนาคารในระยะกลางจะดียิ่งขึ้นหากการผสานความร่วมมือภายในกลุ่มประสบความสำเร็จ
สินเชื่อของธนาคารยังขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 21% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดย ณ เดือนมีนาคม 2556 มีสินเชื่อรวมดอกเบี้ยค้างรับทั้งสิ้น 177.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากเดือนธันวาคม 2555 ธนาคารมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อ โดยสินเชื่อหลัก 2 ประเภทได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อ (75%) และสินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย (17%) มีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 90% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความเสี่ยงด้านเครดิตในสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการรายหลัก ๆ ของธนาคารอีกด้วย โดยเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงในระดับกลางถึงสูง
ธนาคารยกระดับคุณภาพสินทรัพย์โดยทำการปรับปรุงระบบบริหารความเสี่ยงให้ดียิ่งขึ้น อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 6.2% ในปี 2552 เป็น 3.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 อย่างไรก็ตาม สถานะความเสี่ยงของธนาคารเพิ่มขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา จากการอำนวยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงิน ทั้งนี้ สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจาก 4.7 พันล้านบาทในปี 2554 เป็น 5.7 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2556 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะสามารถบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพเหล่านั้นได้ และไม่ทำให้คุณภาพของสินเชื่อเสื่อมถอยลงไปอีก
สถานะทางการเงินของธนาคารยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิในงบการเงินรวมในไตรมาสแรกของปี 2556 จำนวน 1,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างมากจากค่าธรรมเนียมนายหน้าค้าหลักทรัพย์ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยสำหรับงวดสามเดือนแรกของปี 2556 เท่ากับ 0.5% และ 3.5% (ยังไม่ได้ปรับตัวเลขเป็นรายปี) ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 0.3% และ 2.4% ในงวดเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับผลตอบแทนที่สูงในธุรกิจหลักไว้ได้ แต่ธนาคารยังคงมีต้นทุนทางการเงินที่สูงที่สุดในระบบซึ่งสะท้อนความได้เปรียบทางการแข่งขันที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ในส่วนของสภาพคล่องและเงินทุนนั้น ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่งจากความไม่สมดุลระหว่างโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินที่จะครบกำหนดภายใน 12 เดือน โครงสร้างเงินทุนของธนาคารเปลี่ยนแปลงไปโดยมีการระดมเงินทุนจากเงินรับฝากเพิ่มขึ้น เนื่องจากตั๋วแลกเงินมีต้นทุนที่สูงขึ้น ธนาคารยังคงพึ่งพิงเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความอ่อนไหวและผันผวนได้ง่าย อย่างไรก็ดี ธนาคารมีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนบัญชีเงินฝากรายย่อยให้มากขึ้นเพื่อให้แหล่งเงินทุนมีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น
ฐานเงินทุนของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง โดย ณ เดือนมีนาคม 2556 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.17% และเงินกองทุนรวมเท่ากับ 13.82% แม้ว่าอัตราส่วนจะลดลงเล็กน้อยจากปี 2555 แต่ยังคงสูงกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 6.00% และ 8.50% ตามลำดับ อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 12.8% ในปี 2554 เป็น 14.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรวมกิจการกับกลุ่มภัทร ทั้งนี้ ธนาคารมีสินเชื่อที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงโดยเฉพาะสินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ดังนั้น การดำรงเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างเคร่งครัดจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อรองรับความเสี่ยงในช่วงภาวะถดถอยจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงิน
ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KK142A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,905 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
KK144A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,485 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
KK14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
KK165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KK168A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KK16DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 975 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KK187A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 240 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
KK18DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 625 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
KK18DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2563 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive