นายสนธยา กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรม จะปรับบทบาทใน 3 มิติสำคัญ มิติแรก คือ การบริหารจัดการด้านวัฒนธรรม โดยนำทุนทางมรดกวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ มิติที่สอง การผลักดันเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบนฐานวัฒนธรรม และมิติที่สาม การปรับโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม ทั้งนี้ ประเทศไทย มีจุดแข็งทางด้านมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งจับต้องได้ อาทิ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และจับต้องไม่ได้ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้วางแนวทางการบริหารจัดการที่ดี เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมในการสืบสาน สร้างสรรค์ บูรณาการ
“กระทรวงวัฒนธรรม มีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับบทบาทกระทรวงในมิติต่างๆ ประกอบด้วย มิติทางสังคม เป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของไทยโดยปลูกจิตสำนึกและเผยแพร่ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ อาทิ โครงการรากวัฒนธรรมที่ภาคภูมิใจในทุกพื้นที่ โครงการค่ายเยาวชนวัฒนธรรมภาคฤดูร้อน ส่วนมิติทางเศรษฐกิจ เป็นการนำทุนทางมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อาทิ โครงการผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โครงการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับมิติเชิงบริหารจัดการ เป็นการปรับปรุงระบบบริหารจัดการเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมและการบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบจากทุกภาคส่วน ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเอื้อต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจบนฐาน นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะต้องดำเนินอย่างเร่งด่วน อาทิ โครงการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเวียงกุมกาม โดยใช้ระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 — เมษายน 2557 เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและรองรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นเป็น 5.95 แสนคนต่อปี” นายสนธยา กล่าว