นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า การที่รัฐบาล โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว มีนโยบายที่จะระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลผ่าน AFET มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสต็อกข้าว และเพิ่มช่องทางการระบายข้าวของรัฐบาล ในอีกช่องทางหนึ่งซึ่งหลายๆ ฝ่ายยอมรับในความโปร่งใสและการแข่งขันด้านราคาที่เป็นธรรม
“การประมูลข้าวแบบ Basis จะให้ความสำคัญในการคัดเลือกข้าวที่มีคุณภาพดี เป็นข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 และข้าวขาว 5% ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 (รอบ 1) และ (รอบ 2) ประมาณ 500,000 -1,000,000 ตัน และได้กำหนดข้าวเป็นกอง ประมาณกองละ 2,000 ตัน เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าร่วมประมูลได้ นอกเหนือจากผู้ส่งออก ทั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประมูลเข้าดูคุณภาพสินค้าก่อนยื่นประมูลอีกด้วย ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการมาร่วมประมูลข้าวในครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไป”
ทางด้าน นายวันชัย ผโลทัยถเกิง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) กล่าวเสริมว่า จากประสบการณ์ในการระบายข้าวผ่าน AFET เมื่อปี 2550 และ 2552 นั้น พบว่าปริมาณการซื้อขายสัญญาข้าวสารล่วงหน้าใน AFET ช่วงที่มีการประมูล Basis มีการซื้อขายหมุนเวียนกันมากกว่า 3.5 เท่าของปริมาณข้าวสารที่ชนะการประมูล Basis การที่ปริมาณสัญญาซื้อขายมีมากกว่าปริมาณของจริงมาก ย่อมแสดงถึงการมี ส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ ที่ต้องการเห็นราคาที่มีการแข่งขัน และสอดคล้องกับภาวะที่เป็นจริงของตลาดด้วย
“ก.ส.ล. ในฐานะผู้กำกับดูแล ส่งเสริม และพัฒนา การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า มีความพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลผ่าน AFET โดยมุ่งหวังว่าการประมูลดังกล่าว จะช่วยผลักดันราคาข้าวใน AFET ให้เป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลก สร้างกลไกการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล ที่โปร่งใส เป็นกลาง และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาระบบตลาดข้าวของประเทศให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วย” นายวันชัยกล่าวทิ้งท้าย
เผยแพร่ในนาม สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.)
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข่าวเผยแพร่ฉบับนี้
กรุณาติดต่อที่ศูนย์สารสนเทศและเสริมสร้างความรู้
โทรศัพท์ 0-2685-3250 ต่อ 204 โทรสาร 0-2685-3259
หรือ http://www.aftc.or.th