เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา PwC ได้มีการเปิดตัวธุรกิจร่วมทุนใหม่ อย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ South East Asia Consulting Joint Venture หรือ SEAC โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของงานด้านที่ปรึกษาของบริษัท ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึงอย่างเป็นทางการในปี 2559 ซึ่งจะทำให้ภูมิภาค มีประชากรที่เป็นผู้บริโภคมากขึ้นกว่า 500 ล้านคน กลายเป็นแหล่งการค้าการลงทุนที่สำคัญ และเป็นที่จับตามองของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และ หุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวถึงการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ งานด้านที่ปรึกษาผ่านการร่วมทุนในครั้งนี้ว่า บริษัทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายในภูมิภาค ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับบริษัทในเครือฯ อื่นๆในอันที่จะยกระดับขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการทำธุรกิจให้มากขึ้น ซึ่งพีดับบลิวซีประเทศไทย จะได้รับประโยชน์ในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการลูกค้า ในระดับที่เป็นภูมิภาคมากขึ้น มีการแชร์และบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของพีดับบลิวซีในแต่ละสำนักงานทั่วโลก เพื่อให้สามารถทำงานให้แก่ลูกค้าในแต่ละโปรเจ็คได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการขยายตลาด ครอบคลุมทั้งลูกค้าคนไทย ลูกค้าในภูมิภาค รวมถึงลูกค้าข้ามชาติขนาดใหญ่
“เป้าหมายของการปรับโครงสร้างในครั้งนี้คือ เราต้องการที่จะกระตุ้น Growth และฉวยโอกาสในการปูทางไปสู่การเปิดตลาด Cousulting ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ของเราในการมุ่งขยายการให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในและนอกภูมิภาค ซึ่งทุกท่านคงทราบกันดีว่า อาเซียนถือเป็นภูมิภาคหนึ่งในโลกที่มีการเติบโตเร็วมากที่สุดไปแล้ว ณ เวลานี้” นายศิระกล่าว
ในส่วนของ PwC ประเทศไทย บริษัทจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในโครงการดังกล่าว โดยทำงานร่วมกับพีดับบลิวซีในประเทศอื่นๆ ประกอบด้วย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว และ กัมพูชา โดยการร่วมทุนนี้มีสัดส่วนการลงทุนมาจากพีดับบลิวซีในอาเซียนอยู่ประมาณ 70% และ 30% จากพีดับบลิวซีในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และ สหรัฐอเมริกา
ด้าน นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา และหนึ่งในฐานะผู้นำโครงการจากประเทศไทย กล่าวว่า “การปรับโครงสร้างทางธุรกิจในครั้งนี้จะช่วยให้ PwC ประเทศไทย สามารถยกระดับงานด้านที่ปรึกษาไปสู่อีกขั้น ตอบรับกับการแข่งขันที่ท้าทายในยุคปัจจุบัน ท่ามกลางสภาวการณ์ที่เงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าสู่ภูมิภาคในระยะยาว ไม่ว่าจากจีน ญี่ปุ่น หรือ สหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวอยู่บ้างในช่วงที่ผ่านมา”
“เรายังมองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็น next frontier ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง รูปแบบการค้าการลงทุนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากอิทธิพลตะวันตกมาสู่ตลาดเกิดใหม่มากขึ้น อีกทั้งภูมิต้านทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีมากของบรรดาธุรกิจในภูมิภาค ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโตในอนาคตในระยะต่อไป อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6-8% ระหว่างปี 2552-2556 และยังมีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตจะยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า” นางสาววิไลพรกล่าว
“ในแง่ของตลาดธุรกิจที่ปรึกษาเอง อาเซียนถือเป็นตลาดหนึ่งที่มีการเติบโตรวดเร็วและมีการแข่งขันมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก หากสังเกต จะเห็นว่า มีบริษัทที่ปรึกษาทั้งขนาดเล็กและใหญ่ของโลกประกอบธุรกิจอยู่ในภูมิภาคกันเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมา มีการสำรวจกันว่าตลาด Consulting ในอาเซียนมีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2555” เธอกล่าว
นายเดเร็ก คิดลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการร่วมทุนธุรกิจที่ปรึกษาของ PwC ยังกล่าวเสริมว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะช่วยสร้างรากฐานงานที่ปรึกษาของบริษัทให้ไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยจะช่วยให้บริษัทสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างไร้รอยต่อ ไม่ว่าลูกค้าจะประกอบธุรกิจอยู่ที่ใดในโลก
“สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากการทำงานกับลูกค้าในช่วงที่ผ่านมา คือ ดีมานต์ของภาคธุรกิจที่ต้องการมีผู้เชี่ยวชาญ หรือ ที่ปรึกษาในการให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เวลาขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ (ยกตัวอย่าง กลุ่มประเทศ CLMV เช่น พม่า) ยิ่งภูมิภาคยิ่งบูม ธุรกิจยิ่งโต ยิ่งจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องมีความสามารถในการ Identify โอกาสและความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการปรับโครงสร้างตรงนี้จะช่วยให้เรา Support ลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการได้ดีขึ้น” นายเดเร็ก กล่าว
“การทำงานภายใต้การปรับโครงสร้างใหม่ จะมีจุดโฟกัสไปที่การแชร์ Resource ของเราทั้งในแง่ของกำลังพล และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ จะมีการทำงานกันแบบ Streamline และเป็นภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าเราได้รับคำปรึกษาที่ดีที่สุดที่จะช่วยต่อยอดทางธุรกิจหรือสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อไป” เขากล่าว
เมื่อมองเทรนด์ของธุรกิจในอนาคต นายเดเร็ก กล่าวว่า บริการธุรกิจที่ปรึกษาหลักที่น่าจะเข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมมากที่สุดในอาเซียน ได้แก่ การบริหารจัดการบุคลากรในองค์กร (Talent) ดิจิตัลเทคโนโลยี (Digital technology) และการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร (Sustainability)
นอกจากนี้ นายเดเร็กยังคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมธุรกิจที่ปรึกษาจะเห็นการควบรวม (Consolidation) กันมากขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทที่ปรึกษาขนาดเล็ก (Boutique) จะได้รับแรงกดดันให้ต้องเพิ่มขีดความสามารถหรือหาพันธมิตรเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่ก็อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจโดยจับกลุ่มลูกค้าและบริการให้เป็นระดับภูมิภาคมากขึ้น