นอกจากนั้นนายประทีป อ่อนสลุง ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์และความคาดหวังในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า วัตถุประสงค์หลักคือเปิดพื้นที่ให้กับเด็กๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกทักษะในสิ่งที่ตัวเองเรียนมา แล้วในส่วนของตัวงานเองก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีและเรื่องของอาหารพื้นบ้าน เพราะไทยเบิ้ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมมีวิถีชีวิต มีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่บ่งบอกความเป็นไทยเบิ้ง มีความโดดเด่นในเรื่องของภาษาพูดที่มักจะลงท้ายด้วยคำว่าเบิ้ง อย่างเช่น “ขอเบิ้ง” “ให้ไปด้วยเบิ้ง” เป็นต้น แต่ใช้เฉพาะประโยคตอบรับเท่านั้นไม่นิยมใช้ในประโยคปฏิเสธ นอกจากนั้นยังมีเอกลักษณ์ในเรื่องของการแต่งกาย ผู้หญิงก็จะนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้ออีหิ้ว (เสื้อกระโจมอกแต่สายเล็กกว่า) มักจะตัดผมทรงดอกกระทุ่มคล้ายๆ รองทรงในสมัยนี้ ส่วนผู้ชายก็จะนุ่งกางเกงเซียงไฮ้ คือเป็นกางเกงขาก๊วย แล้วใส่เสื้อปาด คอกลม แขนสั้น ผ่าอกกระดุม 3 เม็ดหรือผ่าตลอดแนว นิยมนำผ้าขาวม้ามาคาดเอวหรือพาดบ่า ถ้าผู้หญิงก็เป็นสไบเฉียงสำหรับใส่เวลาไปวัด และมีย่ามที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาวไทยเบิ้ง แล้วในเรื่องของวัฒนธรรมการกินอาหารที่นี่ไม่นิยมกินอาหารผัดๆ ทอดๆ และแกงกะทิ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีตามธรรมชาติและแกงไม่ใส่กะทิ
สำหรับในเรื่องของความคาดหวังที่มีอย่างแรกถ้าคนที่สนใจเรื่องของภูมิปัญญาเรื่องของวัฒนธรรมก็จะได้เรื่องของการมาฝึกมาเรียนรู้เรื่องของพื้นบ้าน ในส่วนที่สองคนที่มาร่วมงานก็จะได้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและเกิดความภาคภูมิใจในส่วนนี้จะนำมาสู่เรื่องของความสุขและความสามัคคี เพราะว่างานแบบนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชน หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นครูภูมิปัญญาเป็นคนที่เป็นผู้ปกครองเป็นคนที่จะเข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ งานนี้เป็นงานที่เราจะมาช่วยปลุกกระแสเรื่องของความพอเพียง จริงๆ แล้วเรื่องราวของวัฒนธรรมมันไม่ต้องใช้เงินอะไรมากมาย เพียงแต่ให้คนมาร่วมกันแล้วมีกิจกรรมที่ไม่ยั่วยุ เพราะว่าเพลงพื้นบ้านมันมีความแตกต่างจากดนตรีสมัยใหม่ ตรงที่เป็นเพลงที่สร้างสรรค์สนุกสนานและส่งเสริมสังคมที่ดี
สำหรับใครที่สนใจวัฒนธรรมของ “ไทยเบิ้ง” ก็สามารถไปร่วมงานดังกล่วได้ที่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ส่วนใครสนใจกิจกรรมใดก็เลือกดูเลือกทำกันได้ตามสบายเพราะงานนี้ชมฟรีไม่เสียเงินแถมยังได้ความรู้ในเรื่องของภูมิปัญญาไทยเบิ้งติดไม้ติดมือไปอีกด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจร่วมเดินทางไปกับเราติดต่อได้ที่ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โทร.02-612-6996-7 ต่อ 101-106 หรือ โทรสาร. 02-612-6996-7 ต่อ 107