ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)” ที่ “A-” และคงแนวโน้ม “Stable”

ศุกร์ ๓๐ สิงหาคม ๒๐๑๓ ๑๗:๓๙
ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A-” ให้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดย DBS Vickers Securities Holdings Pte., Ltd. (DBSVSH) หนึ่งในสมาชิกในกลุ่มธนาคารดีบีเอสในประเทศสิงคโปร์ ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตของบริษัทมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มธนาคารดีบีเอสซึ่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและอื่น ๆ แก่บริษัท ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและทรัพยากร รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจกับลูกค้าในฐานลูกค้าของกลุ่มธนาคารดีบีเอส อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ไทย และความไม่แน่นอนของธุรกิจหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึง ความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาด และผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในระยะปานกลาง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่รุนแรง และแรงกดดันจากแนวโน้มที่ลดลงของอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หลังการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงฐานะการเป็นบริษัทที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ อีกทั้งจะยังมีบทบาทในธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระดับสากลของกลุ่มธนาคารดีบีเอส และจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารดีบีเอสต่อไป

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลักโดยมีธุรกิจสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งทางการเงิน ฐานะทางการเงินและการกระจายตัวด้านรายได้ของบริษัทดีขึ้นตั้งแต่ปี 2554 รายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นรายได้หลักที่คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 84% ของรายได้รวมในปี 2555 ลดลงจากสัดส่วน 86% ในปี 2554 ในขณะที่รายได้จากบริการอื่นมีสัดส่วนประมาณ 7% ของรายได้รวม รายได้จากดอกเบี้ยซึ่งส่วนใหญ่มาจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9% ของรายได้รวมในปี 2555 รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจของบริษัทลดลงอย่างมาก โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการมีจำนวน 16 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.4% ของรายได้รวมในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 1.7% ในปี 2554 ทั้งนี้ กำไรและขาดทุนจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์คาดว่าจะลดลง เนื่องจากบริษัทตัดสินใจระงับธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ในนามของบริษัทเอง (Proprietary Trading)

ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.65% ในปี 2554 จาก 2.54% ในปี 2553 และ 2.01% ในปี 2552 ส่วนแบ่งทางการตลาดปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 2.89% ในปี 2555 และคงตัวในระดับดังกล่าวในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 บริษัทจัดอยู่ในอันดับที่ 17 จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 33 ราย หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกลุ่มธนาคารดีบีเอสต่อไป บริษัทจะสามารถรักษาฐานะทางการตลาดเอาไว้ได้ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายจากลูกค้าของกลุ่มธนาคารดีบีเอสคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายในปี 2555 ของบริษัท

เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์รายอื่น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2555 มากนัก เนื่องจากอัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงนั้นได้รับการชดเชยในสัดส่วนที่มากกว่าจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากระดับ 59 พันล้านบาทต่อวันในปี 2554 เป็น 65 พันล้านบาทต่อวันในปี 2555 ในขณะที่อัตราเฉลี่ยของค่านายหน้าของบริษัทอยู่ในระดับ 0.16% ในปี 2554 และ 0.14% ในปี 2555 ซึ่งเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข่งขันที่รุนแรงจะยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากการเปิดเสรีเต็มรูปแบบเมื่อปี 2555 จะสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการทำรายได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในอนาคต

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ภายหลังจากวิกฤตในปี 2551 โดยบริษัทรายงานผลกำไรสุทธิสำหรับปี 2552 จำนวน 34 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 80 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 82 ล้านบาท และในปี 2555 จำนวน 122 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การลงทุนที่ฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2552 การลดลงของค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยหลังจากเปิดเสรีคาดว่าจะค่อย ๆ จำกัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมการสร้างเสถียรภาพความสามารถในการทำรายได้โดยการขยายงานไปยังธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ และออกผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ในระดับ 2.8 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2554 ถึง 2555 ปริมาณสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์คงค้างในปี 2554 และ 2555 จึงเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 1 พันล้านบาท จาก 875 ล้านบาท ในปี 2553 จากการที่บริษัทมีปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์คงค้างคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 37% ของสินทรัพย์รวมในปี 2554 และ 40% ในปี 2555 โดยบริษัทมีนโยบายจะขยายสินเชื่อดังกล่าวต่อไป ตามโอกาสที่เอื้ออำนวยในปี 2556 ทั้งนี้ การขยายสินเชื่อควบคู่กับมาตรการในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดยิ่งขึ้นน่าจะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรจากธุรกรรมนี้ได้

บริษัทมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำจากการลงทุน อีกทั้งยังคงมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอ ณ เดือนธันวาคม 2555 บริษัทใช้วงเงินกู้ยืมไปประมาณ 0.02% จากวงเงินทั้งสิ้น 2.65 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ภายในประเทศ บริษัทยังคงมีทุนที่เพียงพอสำหรับการประกอบธุรกิจโดยส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 1,062 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2555 ในขณะเดียวกันก็มีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Rule -- NCR) อยู่ที่ระดับ 98.2% เพิ่มขึ้นจาก 66.7% ในปี 2554 และสูงกว่าเกณฑ์ 7% ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ค่อนข้างมาก

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (DBSVT)

อันดับเครดิตองค์กร: A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ