นายวิรัช โหตระไวศยะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกิดขึ้นอย่างมากมาย จนทำให้เกิดผลกระทบต่อแนวคิดและพฤติกรรมเด็กที่เปลี่ยนไปด้วย ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงจัดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อมุ่งส่งเสริมนักศึกษาได้เรียนรู้ถึงพลังความสามารถที่มีอยู่ในตน หรือศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตนเองให้ได้นำออกมาใช้ให้มากที่สุด อันจะช่วยให้สามารถจัดการกับปัญหาชีวิตและงานอาชีพได้ ตลอดจนสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมและมีจิตสำนึกที่รับผิดชอบและทำประโยชน์ต่อส่วนรวม สิ่งแวดล้อม ครอบครัว และสังคม ด้วยการฝึกทักษะการดำเนินชีวิตหรือทักษะทางสังคมให้แก่นักศึกษา โดยเริ่มจากฐานของการที่ให้ทุกคน ได้รู้จักเข้าใจตนเอง และใช้พลังต่าง ๆ ที่มีอยู่ ในตนเองอย่างเต็มที่ให้เกิดความรู้สึกรักและเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นภูมิคุ้มกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับนักศึกษาได้
“ไนซ์” นางสาวธันยาพลอย ธัญญ์ตรีฉัตร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนสาขาเข้าร่วมโครงการ กิจกรรมเริ่มต้นให้สำรวจเกี่ยวกับตัวเราเอง ถามเกี่ยวกับคุณค่าในตัวเราเอง จากนั้นมีวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ความรู้ที่ได้ในการอบรม ยกตัวอย่างเช่น ได้เห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น ไม่ดูถูกตนเอง พอใจใจสิ่งที่มี รักตนเอง ดูแลตนเอง รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า “จุดเริ่มต้นของสิ่งดีในชีวิต เริ่มต้นที่ตัวของเราเอง” สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการดำเนินชีวิต
“กร” นายธีรเดช บุญห้อมล้อม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เล่าว่า เป็นโครงการที่น่าสนใจ เข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยฯ อยากทำกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยฯ ตัดสินใจไม่ผิดที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งกิจกรรมสอนให้คิด คิดในที่นี้ คือ การที่คิดผิดแปลก คิดต่างจากที่ตนเองคิด ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรม การจับคู่ขยะในกองขยะ ซึ่งสอนให้รู้ว่า ขยะประเภทเดียวกันไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน มันขึ้นอยู่ที่ว่าจะจับคู่ให้มันอยู่ประเภทไหน เช่นเดียวกัน การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยฯ ถ้าสามารถยอมรับในสิ่งที่แตกต่างของเพื่อน เพราะทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกัน จะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
“แอ้ม” นางสาวณัฐฐพร สังข์สมศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย เล่าว่า 3 วัน 2 คืน ได้รู้จักเพื่อนต่างคณะ ทำให้มีมุมมองในการมองคนที่หลากหลาย “ทุกคนมีความต่างกัน ไม่ว่าจะในเรื่องของเหตุผล” ในการมองโลกควรมองในแง่บวก มีความเสียสละช่วยเหลือสังคม และที่สำคัญความเป็นผู้นำ เป็นผู้นำในที่นี้ ผู้นำนักศึกษาในเรื่องของการเรียนและเรื่องของการทำกิจกรรม เป็นแบบอย่างให้กับเพื่อนในห้องเรียน และในมหาวิทยาลัยฯ
“ป๊อป” นายภานุวัฒน์ ชูดำ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า ชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ที่โรงเรียน เมื่อมีโครงการมาที่คณะชื่อโครงการน่าสนใจ จึงเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งคิดว่าตนเองตัดสินใจไม่ผิดที่เข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้เข้าใจการใช้ชีวิตมากขึ้น เช่น การเข้าสังคม การปรับตัวเข้ากับสังคม เมื่อเข้ามาใช้ชีวิตในสังคม ควรทำตัวให้มีคุณค่า หรือแม้กระทั่งก่อนที่จะทำอะไร ควรหยุดคิดก่อนทำ ว่าสิ่งที่ทำสมควรหรือไม “ก่อนที่คนตัดสินใจว่าคนที่เราคบในสังคมเป็นคนแบบไหน เราต้องเปิดใจคุยกับเขาด้วย”
นักศึกษาชั้นปีที่ 1 80 ชีวิตที่ได้เข้าร่วมโครงการรักและเห็นคุณค่าในตนเอง ฝึกอบรมให้ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้นำนักศึกษาที่มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะเกี่ยวกับกระบวนการทางจิตวิทยา นำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนนักศึกษา ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปบทสรุปที่ทุกคนได้สะท้อนหลังจากผ่านโครงการนี้คือ ทำให้รู้จักคุณค่าตนเอง รักตนเอง และเข้าใจคนอื่นมากขึ้น มีประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาเองในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันอย่างแน่นอน
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994