ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารทหารไทยที่ ‘BBB-’/‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อังคาร ๐๓ กันยายน ๒๐๑๓ ๑๗:๕๐
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ที่ ‘BBB-’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘A+(tha)’ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตอื่นแสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต — อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน และ อันดับเครดิตภายในประเทศ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของ TMB พิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนอยู่ในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB พิจารณาถึงอัตรากำไรก่อนการสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (pre-provisioning profitability) และคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น และฟิทช์คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงสถานะในด้านการระดมทุนและสภาพคล่องของธนาคารที่อยู่ในระดับที่ดี

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการเงินโดยรวมของ TMB ยังคงอยู่ในระดับที่ด้อยกว่าบ้างเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศและต่างประเทศ การปรับตัวดีขึ้นของอัตราส่วนกำไร เช่น อัตราส่วนส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และกำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นของการเติบโตของสินเชื่อ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญน่าจะปรับตัวลดลงกลับมาอยู่ในระดับปรกติจากการที่ธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จของธนาคารที่ได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงเป็น 4.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 เมื่อเทียบกับ 7.5% ณ สิ้นปี 2554 เนื่องจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติมในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 และการเติบโตของสินเชื่อ ในขณะเดียวกันอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 131.9% จาก 79.9% แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ TMB จะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกันธนาคารพาณิชย์อื่น แต่อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศและอยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ ปัจจัยดังกล่าวนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับตัวอ่อนแอลงของสภาวะแวดล้อมการดำเนินงาน เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่า TMB ยังคงมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี

TMB มีโครงสร้างการระดมทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี ธนาคารได้ขยายฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยซึ่งช่วยให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลงและใกล้เคียงกับธนาคารขนาดใหญ่มากขึ้น อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) ของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 97.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 (91.5% ณ สิ้นปี 2555) เนื่องจากการไหลออกของเงินฝากจากบัญชีของลูกค้าบริษัทรายใหญ่รายหนึ่ง อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศ นอกจากนี้สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารคาดว่าจะสามารถครอบคลุมเงินกู้ยืมระยะสั้นทั้งหมดและ 24.8% ของเงินฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่

TMB น่าจะมีอัตราส่วนเงินกองทุนที่คำนวณโดยฟิทช์ (Fitch Core Capital) ที่ประมาณ 11.5% และมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 11.3% ณ มิถุนายน 2556 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับธนาคารพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง

TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 7 ในประเทศไทย โดยมีขนาดสินทรัพย์ที่ 711.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคาร ได้แก่ ING Bank NV มีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 30.1% (รวม 4.9% ที่ถือใน Non-Voting Depository Receipt หรือ NVDR) และกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 26.1%

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน และ อันดับเครดิตภายในประเทศ

โอกาสที่อันดับเครดิตของ TMB จะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้นมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของ TMB คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและปัจจัยดังกล่าวได้สะท้อนอยู่ในอันดับเครดิตปัจจุบันแล้ว ในทางกลับกันหากการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของธนาคารมีทิศทางที่เปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม การเติบโตของสินเชื่อในระดับที่สูงมากโดยไม่มีปัจจัยอื่นมารองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น หรือการเพิ่มขึ้นของการกระจุกตัวของสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิต สัญญาณที่บ่งชี้ถึงการปรับตัวแย่ลงของเครือข่ายธุรกิจด้านเงินฝาก (deposit franchise) ของธนาคาร อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตเช่นกัน

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต — อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘BB+’ ของ TMB สะท้อนถึงความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น มุมมองดังกล่าวพิจารณาถึงความสำคัญของ TMB ต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน โดยเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 5%

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน (ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนจากขนาดของส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก) อาจส่งผลให้โอกาสในการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป และจะส่งผลต่ออันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำเช่นกัน การปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทยลงหลายอันดับ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น

การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ ING Bank (A+/Negative) เกินกว่า 50% อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคาร อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต — หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทของ TMB มีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะด้อยสิทธิในโครงสร้างเงินทุน (capital structure) และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าวที่ออกโดยสถาบันการเงิน

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ จะได้รับผลกระทบหากมีการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ TMB มีดังนี้

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘BBB-’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F3’

- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘bbb-’

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ ‘3’

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BB+’

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘A+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F1(tha)’

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ ‘A(tha)’

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version