ดร.ศิริฉัตร ฉัตรแก้วประธานสมาพันธ์ช่างผมไทย เปิดเผยว่า ในขณะนี้ 4 สมาคมอุตสาหกรรมช่างผมไทย ประกอบด้วยสมาคมเสริมสวยแห่งประเทศไทย สมาคมช่างผมเสริมสวยแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมเสริมความงามประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมช่างผมไทยสู่สากล ได้ร่วมมือในการก่อตั้งสมาพันธ์ช่างผมไทย ภายใต้วัตถุประสงค์คือ ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมช่างผมไทยสู่สากล โดยการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสมาคมในธุรกิจการออกแบบตัดแต่งทรงผมเข้าด้วยกัน และเป็นกลไกในการผลักดันกิจกรรมต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง ด้านการออกแบบตัดแต่งทรงผมให้ได้ผลตามนโยบายของภาครัฐ และตามความต้องการของภาคเอกชนตั้งแต่ระดับประเทศ และระดับสากล ตลอดจนเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม
ดร.ศิริฉัตร กล่าวว่า “ ทิศทางวิชาชีพช่างผมไทยในปัจจุบันคงต้องปรับตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในอนาคตข้างหน้าจะมีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC) จำเป็นอย่างยิ่งที่ช่างผมไทยจะต้องยกระดับมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายที่จะให้วงการช่างผมไทยกลายเป็นแหล่งรวมแฟชั้นแถวหน้าในเอเชีย ซึ่งจะต้องเน้นคุณภาพทั้งผู้ให้บริการ จนถึงการดูแลป้องกันรักษาชีวิตสุขภาพร่างกายของผู้ใช้บริการให้ดียิ่งขึ้น”
“ในช่วงแรกนี้ 4 สมาคมในอุตสาหกรรมช่างผมไทยได้จับมือกัน เราพร้อมที่จะเรียนเชิญสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมช่างผมไทย ซึ่งมีหลายสมาคม เข้ามาเป็นสมาชิกในสมาพันธ์ช่างผมไทย เพื่อรวมกันเป็นหนึ่ง แสดงความสามัคคีเพื่อที่เราจะได้ดูแล ปกป้องเพื่อนในวิชาชีพให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนดูแลผู้ใช้บริการให้มีความประทับใจถึงการให้บริการของช่างผมระดับมืออาชีพ มาตรฐานสากล และสามารถที่จะก้าวสู่ตลาดการให้บริการระดับสากล” ดร.ศิริฉัตรกล่าว
นางจิณณา สืบสายไทย เลขาธิการสมาพันธ์ช่างผมไทย กล่าวว่าจากการทำวิจัยประมาณการรายได้ในแต่ละปีในอุตสาหกรรมช่างผมในไทย สามารถทำรายได้มากกว่า 57,000 ล้าน ซึ่งประกอบไปด้วย รายได้จากผลิตภัณฑ์ครีมเปลี่ยนสีผมที่มียอดจำหน่ายในปีพ.ศ.2554จำนวน 2,400 ล้านบาท และในปีพ.ศ.2555 สูงถึง 2,500 ล้านบาท จะพบว่าต้นทุนครีมเปลี่ยนสีผมหนึ่งหลอดมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่300 บาท คิดค่าบริการเปลี่ยนสีผมได้ประมาณ 3,000 บาทนั้น สามารถทำรายได้ปีละประมาณ 25,000 ล้านบาท หากนับรวมค่าตัดผมต่อปีต่อคนอีกประมาณ 500 บาท ประชากรไทยทั้งประเทศ 65 ล้านคนจะเท่ากับ 32,500 ล้าน
“ ตัวเลขรายได้จากอุตสาหกรรมช่างผมที่มีวงเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูง ซึ่งถือว่าในแวดวงอาชีพดังกล่าวนี้สามารถสร้างรายได้ ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น มีทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนกับอุตสาหกรรมนี้ จนสามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐได้มีโอกาสสนับสนุน และส่งเสริมอาชีพดังกล่าวมีส่วนผลักดันให้ธุรกิจของประเทศขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีด้วย ”
“ และในอนาคตจะมีการเปิดการค้าเสรีทำให้อุตสาหกรรมช่างผมไทย ต้องมีการปรับตัวทั้งเชิงรับและเชิงรุก โดยการเพิ่มขีดความสามารถด้านต่างๆ ที่ต้องก้าวให้ทันการเปิดเสรีทางการค้าภาคบริการทั้ง 4 โหมด ได้แก่ โหมดที่ 1 การให้บริการข้ามพรมแดนโดยอาศัยสื่ออิเล็คโทรนิกส์ โหมดที่ 2 การใช้บริการข้ามแดน โหมดที่ 3 การจัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อให้บริการในต่างประเทศ และในโหมดที่ 4 การเคลื่อนย้ายแรงงานช่างผมไทยออกไปทำงานยังต่างประเทศ การผลักดันให้เกิดการประกอบการในเชิงรุกสู่ตลาดโลกจึงสามารถทำได้ในทุกโหมดหากภาครัฐให้การสนับสนุน ” นางจิณณา กล่าว