จากกรณีที่กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ได้มีการหยิบยกและแสดงความคิดเห็นผ่านทุกวิทยุ โทรทัศน์และ หนังสือพิมพ์ กับสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถอดถอนพืชกระท่อม ซึ่งจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษปีพ.ศ. 2522 ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีตัวแทนของกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาแสดงความคิดเห็นที่สวนทางต่อการพิจารณาฯ ของ ปปส. โดยใช้ประสบการณ์และความรู้สึกส่วนตัวมากกว่าการใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการ ส่งผลให้ประชาชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องเกิดความสับสนต่อการพิจารณาการถอดถอนพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ
เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยยึดข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการ มูลนิธิพีเอสไอ (ประเทศไทย) และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสุขภาพของผู้ใช้ยาเสพติด ภายใต้การดำเนินงานในโครงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มเพื่อนผู้ใช้ยาเสพติด ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือรวมทั้งเอกสารอ้างอิงทางวิชาการ ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม ให้กับตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข และคณะควบคุมยาเสพติดให้โทษโดยมีข้อเสนอ ว่าขอให้มีการเวทีวิชาการและทบทวนข้อมูลในเชิงวิชาการ รายงานการวิจัยเกี่ยวพืชกระท่อม ขอให้การให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องต่อสาธารณะเกี่ยวกับพืชกระท่อม รวมถึงกำกับดูแลบุคคลากรในการออกข่าวสารต่อสาธารณโดยมีข้อมูลที่ข้ออ้างอิงและเอกสารสนับสนุน และขอให้คณะอนุกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณาเรื่องพืชกระท่อม หรือสารเสพติดอื่นๆ ที่มีอยู่หรือจะนำมาบรรจุใหม่ในอนาคตโดยใช้ข้อมูลในเชิงวิชาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างรอบด้าน
เสียงสะท้อนจากวิถีชาวบ้าน นายศักดิ์ดา เผือกชาย ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย กล่าวว่า “ผมในฐานะคนภาคใต้และรู้จักกระท่อมมาตั้งแต่จำความได้และไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการและสื่อต่างๆ ที่ให้ข้อมูลสู่สาธารณะถึงโทษและปัญหาที่เกิดจากกระท่อม ถ้าพูดตามปริบทในพื้นที่จริงๆ ว่าทำไมยังมีการใช้กระท่อมกันจนถึงปัจจุบัน ปริบทในอดีต เขาใช้เคี้ยวใบกระท่อมและไปทำนาทำสวนหรือใช้แรงงานทั่วไป และเป็นประเพณีการต้อนรับคนที่ไปมาหาสู่เหมือนมีหมากพลูต้อนรับกันทุกบ้าน ต่อมาก็มีการยืนยันบอกต่อกันว่าสามารถช่วยกลุ่มคนที่เป็นเบาหวานได้ด้วย นั่นคือวิถีเดิมของการใช้ใบกระท่อม และตอนนี้ก็ต้องยอมรับข้อมูลเชิงวิชาการ ว่ากระท่อมสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ ซึ่งมาจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน”
ศักดิ์ดา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ตนมองว่า สมควรที่จะถอดถอนพืชกระท่อมออกจากพรบ.ยาเสพติดนั้นก็คือ “ในหลายๆชุมชนทางภาคใต้ที่ผมได้สัมผัส พืชกระท่อมถือว่าเป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์กับชุมชนและครอบครัว ตัวอย่างเช่นหัวหน้าครอบครัวที่กินเหล้าก็หันมากินหรือดื่มใบกระท่อมแทน คุณภาพชีวิตของหลายครอบครัวดีขึ้นในเชิงบวก สามารถไปทำงานได้ทุกวันไม่ทะเลาะกัน มีรายจ่ายลดลง ไม่ก่ออาชญากรรม และไม่ทะเลาะวิวาท เมื่อไม่กินเหล้า ก็ทำให้อุบัติเหตุที่เคยมีก็ลดลง ผมจึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองถึงประโยชน์และข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและผมขอเป็นเสียงแทนชาวบ้าน”
ติดต่อ:
เกศินี ศิลปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานสื่อสารและงานรณรงค์ มูลนิธิพีเอสไอ (ประเทศไทย)
email: [email protected]/ [email protected]
Tel: (02) 234 9225-29 Ext: 118
Fax: (02) 234 9230