ผลการศึกษาล่าสุดของบริษัท เฮย์กรุ๊ป ได้จำแนก Mega Trends หรือแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลกระทบกับการบริหารบุคลากรไว้ 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานในยุคดิจิตอล และการให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกบุคคล ในเรื่องการปลี่ยนแปลงด้านประชากรนั้น เนื่องด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่องทำให้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งการเปิดเสรี AEC ที่ทำให้ตลาดแรงงานสามารถหมุนเวียนและโยกย้ายได้อย่างเสรี จึงส่งผลให้เกิดการแย่งชิงผู้ที่มีความสามารถรุนแรงมากขึ้น นอกจากนั้นการเข้ามาสู่วัยทำงานของพนักงานรุ่นใหม่ หรือ เจนเนอร์เรชั่นวาย (Generation Y) ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นอื่นๆ อีกทั้งยังนับได้ว่ามีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากุที่สุด ก็ได้เปลี่ยนค่านิยมในการทำงานไปจากเดิม โดยพนักงานรุ่นใหม่นี้มีความคาดหวังที่สูงกว่ารุ่นก่อนๆ ทั้งในเรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทน โอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน การพัฒนาความสามารถของตนเอง รวมไปถึงความต้องการอิสระและการแสดงความเป็นตัวของตัวเองในการทำงาน สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความท้าทายต่อแนวคิดในความจงรักภักดีต่อองค์กรแบบเดิมๆ เพราะวิถีชีวิตและการทำงานของพนักงานยุคใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก
ในประเทศไทย พนักงานที่เป็นกลุ่มเจนเนอร์เรชั่นวายมีจำนวนประมาณร้อยละ 30 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว องค์กรควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับทัศนคติในการทำงาน ความคาดหวัง และพฤติกรรมที่แตกต่างจากเดิมของพนักงานรุ่นใหม่นี้ การศึกษาของบริษัท เฮย์กรุ๊ป เรื่อง “ทัศนคติในการทำงานของพนักงานเจนวาย” ได้เปลี่ยนแนวคิดติดลบขององค์กรที่มีคนรุ่นใหม่ออกไป จากเดิมพนักงานรุ่นใหม่มักถูกมองว่าไม่ขยันทำงาน ไม่เคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส และไม่มีความรับผิดชอบกับงาน แต่จากผลการศึกษากลับพบว่าอันที่จริงแล้วพนักงานเจนเนอร์เรชั่นวายนี้ก็ทำงานหนักเช่นเดียวกับพนักงานรุ่นอื่นๆ แต่ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงานสูง เช่น การจัดตารางการทำงานโดยให้อิสระกับพนักงานแต่ละคนในการเลือกเวลาทำงานได้ เป็นต้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทางบริษัท เฮย์กรุ๊ป จึงได้ให้คำแนะนำ เพื่อที่องค์กรต่างๆ จะสามารถนำไปปรับใช้เพื่อนำเอาศักยภาพของกลุ่มคนเหล่านี้ออกมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนี้
1. ใช้ระบบการพัฒนาสายอาชีพเป็นกลยุทธ์ในการรักษาและพัฒนาผู้ที่มีศักยภาพสูง
ระบบการบริหารจัดการสายอาชีพ (Career Development System) มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆโดยฉพาะกับพนักงานรุ่นใหม่ เนื่องจากความก้าวหน้าในสายอาชีพของคนกลุ่มนี้จะสะท้อนถึงจุดมุ่งหมายและความสำเร็จในชีวิตในแบบของตนเอง (Individualism) อีกด้วย แนวคิดเรื่องสายอาชีพแบบเดิมๆ ซึ่งส่วนมากคือการพัฒนาแบบเลื่อนขั้นบันไดสู่ก้าวที่สูงขึ้นอาจไม่สามารถตอบสนองโจทย์ของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ ระบบการบริหารจัดการสายสายอาชีพแบบใหม่ควรจะสามารถให้พนักงานสามารถพัฒนาได้ในหลายทิศทาง ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เช่น การเติบโตพัฒนาข้ามหน่วยงาน เป็นต้น ทั้งนี้ระบบการบริหารจัดการสายสายอาชีพควรมี เกณฑ์การประเมิน (Assessment Criteria) ที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับกับระบบการบริหารจัดการสายอาชีพที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
2. การบริหารบุคลากรรุ่นใหม่
เพื่อให้ระบบการบริหารจัดการสายอาชีพ (Career Development System) มีประสิทธิภาพสูงสุด องค์กรควรให้ความสำคัญกับการกำหนดและมอบหมายหน้าที่ของการเป็นโค้ช หรือผู้ฝึกสอนงานอย่างเป็นระบบและจริงจัง คนรุ่นใหม่ต้องการความเอาใจใส่และการ feedback อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการพัฒนาโอกาสในหน้าที่การงาน ซึ่งไม่มีอะไรสามารถแทนที่การสอนงาน (Coaching) ในการฝึกการปฏิบัติงานจริง (On-the-job) ได้ อีกทั้งการมอบหมายงานที่ท้าทายให้แก่พนักงานโดยมีผู้นำคอยประเมินผลงานนั้น ยังทำให้องค์กรสามารถบริหารและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ที่มีความสามารถได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นผู้นำที่ดีต้องรู้จักใช้ลักษณะความเป็นผู้นำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารพนักงานรุ่นใหม่ เช่น รับฟังความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่มากกว่าการออกคำสั่ง ให้ความสำคัญกับความร่วมมือกันมากกว่าความเป็นเผด็จการ และให้ความเป็นอิสระในตนเองและความยืดหยุ่นเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมอีกด้วย