กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กทม.
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ก.พ.48) นายชาญชัย คุ้มพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมสถานการณ์ระบาด ของโรคมือ เท้า ปาก ในโรงเรียนสองภาษา (Bilingual)ว่า โรงเรียนสองภาษาซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ตั้งอยู่ใน ซ.ลาดพร้าว126 และมี นักเรียนทั้งสิ้น 270 คน แบ่งเป็น 4 ระดับชั้น คือ ชั้นเตรียมอนุบาล1 อนุบาล2 อนุบาล3 และชั้นประถมศึกษาปีที่1 โดยพบเด็กนักเรียนที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว รวม 11 ราย ผู้ป่วยรายแรกเริ่มป่วยเมื่อปลายเดือนม.ค.48 และผู้ป่วยรายสุดท้ายป่วยเมื่อวันที่ 7 ก.พ.48 ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยทุกรายหายเป็นปกติสามารถกลับมาเรียนหนังสือได้แล้วทุกคน แต่เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคสำนักอนามัยจึงเสนอให้โรงเรียนปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 3 วัน โดยจะเปิดทำการเรียนการสอนในวันที่ 21 ก.พ. เพื่อให้โรงเรียนก็จะได้ทำความสะอาดโรงเรียน และอุปกรณ์ทุกชนิดรวมทั้งของเล่นเด็กด้วย อย่างไรก็ตามโรคมือ เท้า ปาก ถือเป็นโรคประจำถิ่นที่พบเกิดขึ้นทุกปีเหมือนกับโรคอีสุกอีใส หัด หรือตาแดง และโชคดีที่ประเทศไทยไม่มีการระบาดรุนแรงเหมือนดังเช่นที่ไต้หวันหรือมาเลเซีย โดยไม่เคยพบเด็กไทยที่ต้องเสียชีวิตเพราะโรคดังกล่าวเลย ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนสำนักอนามัยได้มอบคำแนะนำพร้อมมาตรการป้องกันโรค เท้า ปากในโรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็กเล็กแก่ทางโรงเรียนคือให้ทางโรงเรียนคัดกรองเด็กนักเรียนที่ป่วยทุกคนก่อนเข้าโรงเรียน เมื่อพบเด็กป่วยหรือมีการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ให้หยุดเรียนและพักอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 1 สัปดาห์ สำหรับของเล่นเด็กให้นำมาเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และเช็ดตามด้วยน้ำสะอาด นำออกผึ่งแดดหรือลมทุกวัน รวมถึงของอื่น ๆ ที่ต้องใช้ร่วมกัน โดยครูพี่เลี้ยงเด็กให้ล้างมือให้สะอาดเพราะการล้างมือจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ พร้อมกันนี้ ได้มอบเอกสารแผ่นพับ และโปสเตอร์เรื่องมือ เท้า ปากให้กับทางโรงเรียนเพื่อเผยแพร่แก่ผู้ปกครองและครู ซึ่งภายในวันจันทร์ซึ่งเป็นวันเปิดเรียนวันแรกโรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองของนักเรียนทุกคนมาให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคดังกล่าว และเชิญแพทย์จากโรงพยาบาลลาดพร้าวมาตรวจสุขภาพเด็กก่อนเข้าเรียนทุกคน นอกจากนี้สำนักอนามัยยังมอบหมายให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่งทั่วพื้นที่ของ กทม.เข้าไปดูแลสถานดูแลเด็กเล็กทุกแห่งด้วย
อนึ่ง โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคที่มาจากน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ หรือตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วย ซึ่งมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กซึ่งจะมีอาการ รุนแรงมากกว่าเด็กโต ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้าง ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ 2 — 4 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคล้ายอาการไข้หวัด มีผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมาเกิดผื่นแดงที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย ผื่นที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นตุ่มพองใส และแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ การระบาดของโรคมักพบในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ทั้งนี้ การป้องกันโรคทำได้ โดยการหลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย การรักษาอนามัยส่วนบุคคลโดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ให้เด็กรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด--จบ--
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ร.ร.นานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์เปิดรับสมัครคอร์สภาษาอังกฤษช่วงวีคเอ็นด์ นักเรียนอายุ 3-5 ปีทดลองเรียนฟรี! อายุ 6-15 ปี ทดสอบภาษาอังกฤษฟรี!
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ร.ร.นานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์เปิดรับสมัครคอร์สภาษาอังกฤษ ช่วงเสาร์ - อาทิตย์ นักเรียนอายุ 3-5 ปีทดลองเรียนฟรี! อายุ 6-15 ปี ทดสอบภาษาอังกฤษฟรี
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ร.ร.นานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์เปิดรับสมัครคอร์สภาษาอังกฤษช่วงวีคเอ็นด์ นักเรียนอายุ 3-5 ปีทดลองเรียนฟรี! อายุ 6-15 ปี ทดสอบภาษาอังกฤษฟรี