นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงาน “การขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ จีเอลพี สำหรับอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล” ว่า หลังจากที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ภายใต้การสนับสนุนทางวิชาการจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ในการพัฒนาและจัดทำเป็นแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีจำนวน 4 ฉบับด้วยกัน ได้แก่ 1. จีเอลพีสำหรับสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น 2. จีเอลพีสำหรับโรงงานแปรรูปอาหารทะเล 3.จีเอลพีสำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และ 4.จีเอลพีสำหรับแรงงานบนเรือประมง ซึ่งหลักการของจีเอลพีทั้ง 4 ฉบับนั้นจะครอบคลุมถึงมาตรฐานแรงงานที่สำคัญ การป้องกันการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ไม่มีการค้ามนุษย์ รวมถึงการปรับปรุงสภาพการทำงานของสถานประกอบการ โดยความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้จีเอลพีสำหรับสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่จีเอลพีอีก 3 ฉบับได้มีการยกร่างเรียบร้อยแล้วโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีนี้
สำหรับการจัดงานในครั้งนึ้นอกจากเป็นการเปิดตัวจีเอลพีทั้งโครงการแล้ว ยังได้จัดให้มีการฝึกอบรมจีเอลสำหรับสถานประกอบการแปรรูปสัตวน้ำเบื้องต้น และโรงงานแปรรูปอาหารทะเล เพื่อให้สถานประกอบการได้นำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่ลงนามในหนังสือแสดงความจำนง เพื่อยืนยันถึงความพร้อมที่จะเข้ารับการฝึกอบรมจีเอลพี ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงสถานประกอบการและยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานให้มีสภาพการทำงานที่ดีโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO เป็นผู้ให้การฝึกอบรมมีจำนวนประมาณ 140 แห่งประกอบด้วย สถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 60 แห่ง และโรงงานแปรรูปกุ้ง ทูน่า และอาหารทะเลจำนวน 84 โรงงาน ซึ่งในจำนวนนี้มี 54 โรงงานที่เป็นสมาชิกของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งและได้เคยยื่นรายชื่อต่อประธานสมาพันธ์ประมงของสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วย
“ในช่วงระยะเวลา4-5 ปีที่ผ่านมาประเด็นแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทยได้ถูกกล่าวถึงว่ามีการใช้แรงงานไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้าประมงไทยซึ่งถือเป็นหนึ่งในรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผลผลิตเพื่อการส่งออกมากกว่า 1.9 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าการส่งออกปีละกว่าแสนล้านบาท ดังนั้น การร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลในครั้งนี้จะเป็นการยืนยันถึงความพร้อมของไทยในการพัฒนาใช้แรงงานที่ดีและถูกต้องในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งจะก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าประมงไทย สามารถรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลของไทยให้เกิดความยั่งยืน และเสริมสร้างความเข้มแข็งและความพร้อมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าประมงของอาเซียน” นายศิริวัฒน์ กล่าว