ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการวิชาการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการค้าการลงทุนในเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นประเด็นการศึกษาด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ยังไม่มีผลงานวิจัยว่าด้วยเรื่อง ความคิด สังคม ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงการศึกษาเชิงลึกถึงกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ล่าสุด ปี พ.ศ. 2555 ของเมียนมาร์ ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นสำคัญ ที่มีผลต่อความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว ในการลงทุน ดังนั้นผลงานวิจัยฉบับนี้จึงถือเป็นข้อมูลที่สำคัญ สำหรับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์การผลิต และการตลาด รวมถึงการขยายขอบเขตการค้า การลงทุน ในเมียนมาร์ ได้อย่างถูกต้อง
“ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนในเมียนมาร์โดยตรงสะสมมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากจีน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้นักลงทุนชาวไทยสนใจลงทุนในเมียนมาร์มากขึ้น คือ กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ ที่ผ่านการอนุมัติจากประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งเมียนมาร์ (Myanmar Investment Commission : MIC) รูปแบบการลงทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์และข้อจำกัดต่างๆสำหรับการลงทุนในเมียนมาร์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณอย่างเป็นรูปธรรมของรัฐบาลเมียนมาร์ที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุนกับต่างชาติ สิ่งที่นักลงทุนชาวไทย ควรให้ความสำคัญ และศึกษาเพิ่มเติม คือ ปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม แนวคิดในการทำธุรกิจของชาวเมียนมาร์ เพื่อความสำเร็จในการลงทุนทำธุรกิจร่วมกัน ” ดร.วัชรัศมิ์ กล่าว
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว สรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้ ด้านเงินลงทุน ไม่มีการระบุถึงเงินลงทุนขั้นต่ำ หรือ สัดส่วนการลงทุนขั้นต่ำอย่างชัดเจน และสามารถทำได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการต่างชาติลงทุนทั้งหมด 2. การร่วมลงทุนระหว่างเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐบาลเมียนมาร์ และ 3.เป็นการร่วมทุนหลายฝ่าย ด้านการเช่าที่ดิน มีสิทธิใช้ที่ดินโดยการเช่าเท่านั้น ไม่ว่าจะเช่าจากหน่วยงานของรัฐ หรือจากเอกชนเป็นเวลา 50 ปี และสามารถต่อสัญญาเช่าได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี ด้านภาษี จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ (Tax holiday) เป็นเวลา 5 ปี และถ้ามีการนำกำไรมาลงทุนต่อจะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้ในส่วนนั้น 1 ปี รวมถึงสิทธิพิเศษด้านภาษีอื่นๆ นอกจากนี้การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะได้รับสิทธิพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอีกด้วย ด้านการจ้างแรงงาน ในช่วง 2 ปีแรก จะต้องมีการจ้างแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ในสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 25 ของการจ้างงานทั้งหมด ในปีที่ 4 ให้เพิ่มเป็นร้อยละ 50 และในปีที่ 6 กำหนดให้เป็นร้อยละ 75 แต่ทั้งนี้คณะกรรมการมีอำนาจที่จะปรับกำหนดเวลาดังกล่าวนี้ให้เหมาะสมกับประเภทของธุรกิจได้ ในกรณีที่เป็นงานที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ กฎหมายกำหนดว่าจะต้องจ้างชาวเมียนมาร์เท่านั้น ในกรณีที่เป็นงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ และต้องมีการคัดเลือก ต้องให้สิทธิแก่คนเมียนมาร์ และต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน ด้านการโอนเงินผลกำไร ผู้ลงทุนสามารถโอนเงินผลกำไรหลังหักภาษีไปต่างประเทศได้ และ ด้านบทลงโทษ กรณีที่นักลงทุนได้กระทำการขัดต่อกฎหมายนี้ หรือ กฎหมายอื่น หรือ ระเบียบ หรือ คำสั่งอื่นใด การลงโทษนั้นจะมีลำดับชั้นจากเบาไปหาหนัก เริ่มแต่ การตักเตือน พักสิทธิพิเศษเป็นการชั่วคราว เพิกถอนใบอนุญาตลงทุน และขึ้นบัญชีดำนักลงทุนรายนั้นๆ
ทั้งนี้ นักลงทุนยังต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลทางสังคม ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวเมียนมาร์ รวมถึงการเตรียมตัวเป็นอย่างดีในการทำธุรกิจกับชาวเมียนมาร์ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะในการแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจ หรือการลงทุนนั้น ย่อมต้องศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจหลักการในการลงทุนของประเทศนั้นๆ รวมถึงเรียนรู้ประสบการณ์จากการลงทุนของนักลงทุนรุ่นพี่ที่เคยไปลงทุนไว้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับนักลงทุนน้องใหม่ในตลาดการลงทุนของเมียนมาร์
ติดต่อ:
บริษัท นิวส์เพอร์เฟค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โทร. 0-2956-5276