นายวิจิตร เปิดเผยว่า ข้อตกลงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาระหว่าง ปตท. และ ไทยออยล์ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นของกลุ่ม ปตท.เอง เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และปรับปรุงกระบวนการผลิต ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของ ปตท. และ เครือไทยออยล์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในสายปิโตรเลียมปิโตรเคมี พลังงานทางเลือก สิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน ซึ่งจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และก้าวไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด
สำหรับความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานนั้นทางไทยออยล์และบริษัทในเครือซึ่งมีธุรกิจกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีที่หลากหลายจะทำการสนับสนุนการวิจัยในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องอาทิข้อมูล ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฯลฯเป็นต้นในขณะที่สถาบันวิจัยฯปตท. มีความพร้อมด้านศักยภาพของนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับมีห้องปฏิบัติการที่พรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ทันสมัย มีมาตรฐานระดับสากล
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ‘เครือไทยออยล์ เล็งเห็นความสำคัญต่องานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาในกลุ่ม ปตท. เริ่มจากความต้องการที่จะเข้าใจในเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับความต้องการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และอื่น ๆ ดังนั้น การสร้างธุรกิจให้เจริญเติบโตและยั่งยืนจำเป็นต้องมีการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีของตนเองผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาตามนโยบายหลักของ TAGNOC โดยเครือไทยออยล์มีธุรกิจที่หลากหลาย เช่น โรงกลั่นน้ำมันที่กำลังการผลิต 275,000 บาเรลต่อวัน โรงอะโรมาติกส์ น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน เอทานอล สารละลาย โรงไฟฟ้า กองเรือ รวมทั้งล่าสุดดำเนินการก่อสร้างโรงงาน Linear Alkyl Benzene อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้อาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่างปตท.และไทยออยล์เริ่มจากการพัฒนาคุณภาพน้ำมันหล่อลื่น เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว และตามมาด้วยโครงการวิจัยร่วมต่าง ๆ อีกมากมาย รวมถึงในปีนี้ ไทยออยล์ ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาเครือไทยออยล์ ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ทิศทาง และสนับสนุนงานวิจัย เน้นการนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ได้จัดทำโครงการต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจภายในองค์กรเป็นหลัก รวมทั้งโครงการที่สนับสนุนธุรกิจในอนาคต เช่น การเปลี่ยนเอทานอลเป็นสารเคมีคุณค่าสูง และพลังงานทางเลือกต่าง ๆ โดยมีผู้ใช้งาน (End User) เป็นที่ปรึกษาและกรรมการในกระบวนการกลั่นกรองงานวิจัย (Stage Gate) ด้วย’
นายไพรินทร์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ‘ปตท. ร่วมมือกับไทยออยล์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาของกลุ่ม ปตท.ให้แข็งแกร่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบาย TAGNOC (Technologically-Advanced and Green National Oil Company) ของกลุ่ม ปตท. ที่เน้นการคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีคุณภาพสูง ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างพลังร่วมแบบบูรณาการที่มีเป้าหมายชัดเจนและดำเนินไปในทิศทางเดียวกันนี้ จะช่วยปรับเปลี่ยนบทบาทของกลุ่ม ปตท. จากผู้ซื้อเทคโนโลยี (Licensee) เป็นผู้ขายเทคโนโลยี (Licensor) และสามารถพัฒนาศักยภาพเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยี แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ มุ่งสู่การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ที่เน้นการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป’