เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มีคำตอบให้ในงานประชุมวิชาการ่วมครั้งที่ 5 ประจำปี 2556 "Optimize the Quality of Life for all Generations" เพื่อให้ทุกคนทุกวัยตั้งแต่แรกเกิดสู่วัยทำงานและวัยสูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี กับหัวข้อบรรยายที่น่าสนใจ "Skin Health :The Bad, The Good and The Better" ที่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท และโรงพญาบาลเปาโล เมโมเรียล จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้
พญ.ธิดากานต์ ระบุว่า เพื่อสุขภาพผิวที่ดีที่สุด คนทั่วไปควรเรียนรู้ว่าอะไรดีต่อผิว ไม่ดีต่อผิวและควรหลีกเลี่ยง อีกทั้งควรสร้างสุขภาพผิวพรรณที่ดีจากภายในสู่ภายนอกเพื่อความงามที่ยั่งยืน โดยสามารถดูแลผิวและเซลล์ในร่างกายของตัวเองผ่านการทานอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี และเสริมกลุ่มไวตามิน
ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย เริ่มจากเรื่องของอาหารโดยกล่าวว่า ศัตรูผิวที่ไม่ดีและควรเลี่ยงคือ น้ำตาล อาหารฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารกลุ่มอิ่มกลวงโบ๋ และการลดน้ำหนักที่ผิววิธี เช่น ทานอาหารประเภทเดียวอย่างโปรตีน หรืองดทานแป้ง พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนทำลายสุขภาพผิวและสุขภาพกาย โดยน้ำตาลจะไปทำให้เกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่นซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ไปทำลายคอลาเจน ส่วนอาหารพวกอิ่มกลวงโบ๋ จำพวกฟาสต์ฟู้ด เนื้อแดง ของทอด และน้ำตาลแป้งขัดขาว จะไปก่อการอักเสบระดับเซลล์แล้วไปกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสี ถ้าอักเสบเยอะก็ไปสร้างเม็ดสีเยอะ ขณะที่ฟาสต์ไดเอตหรือเลือกรับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง มักได้ผลเพียงระยะแรก บางวิธีก็ไม่ได้ผลและไม่ดีต่อสุขภาพ ในทางกลับกันเมื่อกลับมามีพฤติกรรมทานอาหารปกติจะเกิดโยโย่เอ็ฟเฟ็กต์
"ต้องบอกว่าการลองลดน้ำหนักด้วยวิธีในข้างต้นไม่เกิดประโยชน์และเสียเวลาเปล่า ส่วนวิธีการลดน้ำหนักที่ดีหรือ บาลานซ์ไดเอต ควรมีสัดส่วนในการทานต่อจานอยู่ที่ ผักผลไม้ครึ่งหนึ่งของจาน และ 1 ใน 4 ควรเป็นธัญพืชไม่ขัดสีอย่างข้าวกล้องหรือโฮลเกรน ที่เหลืออีก 1 ส่วน ควรเป็นโปรตีนดีอย่างเนื้อปลา เนื้อไก่ และเต้าหู้ อย่างไรก็ดี อาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริงก็คือ ปลา ผัก ผลไม้ เครื่องเทศ และถั่วอบรสธรรมชาติ อย่างวอลนัท และแอลมอนด์ นอกจากนี้ ควรพยายามคิดก่อนกินว่าเป็นอาหารมีวิตามิน มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีแคลอรีเยอะหรือไม่ อยากให้เน้นกินเพื่อประโยชน์มากกว่าให้โทษแก่ร่างกาย" พญ.ธิดากานต์ กล่าว
ในเรื่องการออกกำลังกายคุณหมอให้ความรู้เพิ่มเติมว่า การออกกำลังกายที่มากเกินไปเป็นโทษ จากการสร้างอนุมูลอิสระให้ร่างกายและการบาดเจ็บ ส่วนวิธีการออกำลังที่ดีต่อสุขภาพคือคาร์ดิโอ หรือการออกกำลังกายแบบผสมผสานที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วต่อเนื่องอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30-60 นาทีต่อวัน ส่วนเทรนด์การออกกำลังที่กำลังมาแรงคือ การออกกำลังที่ใช้เวลาน้อยแต่เผาผลาญแคลอรีได้เยอะ อาทิ กระโดดตบสลับกับท่าเบาที่เน้นโทนกล้ามเนื้ออย่างแพลงค์ ใช้เวลาท่าละ 1-2 นาที ประมาณ 12 นาที สามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้มากเหมาะกับคนไม่ค่อยมีเวลา
มาถึงเรื่องการรับประทานไวตามินให้ถูกวิธีและปลอยภัยกับชีวิตในระยะยาว พญ.ธิดากานต์ อธิบายว่า วัยเด็ก วัยรุ่น หรือคนช่วงวัยก่อน 30 ปี ไม่มีความจำเป็นต้องกินไวตามินหรือกลุ่มอาหารเสริม นอกจากคนที่มีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง และทานอาหารเฉพาะอย่าง ที่มีแนวโน้มขาดวิตามินบางตัวได้ แต่พออายุเกิน 50 ปี ควรทานกลุ่มวิตามินรวม วิตามินดี แต่การซื้อวิตามินทานเองทุกครั้งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ หรือตรวจเลือดให้รู้แน่ชัดว่าร่างกายขาดวิตามินตัวใด และไม่ควรทานเกินปริมาณที่มีการวิจัยกันว่าสามารถทานในระยะยาวที่มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง
"ที่สำคัญสำหรับการเสริมพวกไวตามินเข้าสู่ร่างกาย ไม่ควรซื้อวิตามินทางเน็ตแบบไม่รู้ว่าแหล่งผลิต และควรเลือกทานวิตามินที่มีฟอร์มจากธรรมชาติมากกว่าวิตามินสังเคราะห์ โดยเฉพาะกลุ่มเบต้าแครอทีนและวิตามินอี และเพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดควรจ่ายตลาดบ่อยทำกับข้าวรับประทานเอง และหลีกเลี่ยงอาหารผ่านกระบวนการผลิตที่ผ่านความร้อนหรือเย็นเกินไปจนสูญเสียวิตามินบางตัว" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย กล่าว ด้านไวตามินที่กินแล้วปลอดภัยไม่ค่อยมีปัญหาคือ วิตามินซี และโคเอนไซม์คิวเท็น แต่ที่กำลังจะได้รับความนิยมในอนาคตก็คือไวตามินแอสตาแซนทิน หรือสารต้านอนุมูลอิสระเม็ดสีส้มแดงที่อยู่ในปลาแซลมอนและสาหร่ายสีแดง ซึ่งจะมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินซีหลายเท่า และสารสกัดจากผิวองุ่นสีดำและสีแดงที่มีการทดลองว่าช่วยยืดอายุเซลล์และช่วยกระตุ้นยีนส์อายุวัฒนะ
พญ.ธิดากานต์ กล่าวถึงเรื่องการบริโภคน้ำมันปลาทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ร่างกายของคนเราต้องรักษาสมดุลของกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ให้บาลานซ์กัน แต่ทุกวันนี้ผู้บริโภคส่วนมากมักได้รับแต่กรดไขมันโอเมก้า 6 ที่มีอยู่ในน้ำมันพืชทุกชนิด ขณะที่โอเมก้า 3 ที่มีอยู่ในปลาและถั่วกลับไม่ได้ค่อยได้รับ เมื่อความสมดุลเสียส่งผลให้เกิดการอักเสบที่เซลล์ในระดับโมเลกุลที่ไปทำร้ายระบบร่างกายให้แก่เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่ายังไม่มีงานวิจัยใดบ่งว่าการทานน้ำมันปลาในระยะยาวแล้วเป็นอันตราย แต่ก็มีงานวิจัยที่ระบุว่าทานน้ำมันปลาแล้วได้ผลกับไม่ได้ผลปรากฏออกมาอยู่เนือง ๆ ฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ควรทานเนื้อปลา และถั่วที่ผ่านกรรมวิธีไม่มากรสธรรมชาติดีกว่าค่ะ.