นายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สืบเนื่องจาก การมีอุบัติเหตุทางน้ำเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นำมาซึ่งความสูญเสีย ทั้งฝ่ายนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ นำไปสู่ความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระดับชาติ ในฐานะกำกับดูแลกรมเจ้าท่า จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการท่องเทียวทางน้ำ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในทุกพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำของประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการในเรื่องความปลอดภัยที่จะประกาศใช้ในการควบคุมในพื้นที่ต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยง่ายเหมือนที่ผ่านมา โดยจะเริ่มจัดโซนนิ่งที่เมืองพัทยา ซึ่งมีอ่าวพัทยาและเกาะล้านอันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวนิยมมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติ
“นับเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งครั้งแรก ของโครงการพัทยาโมเดล ที่ทุกภาคส่วน โดยมีนายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมตัวแทนจากอำเภอต่างๆรับมอบธง ได้แก่ ศรีราชา เกาะสีชัง บางละมุง สัตหีบ และเจ้าพนักงานปกครองสังกัด ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป รวมถึง ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายป้องกันภัยพิบัติทางบก ฝ่ายป้องกันภัยพิบัติทางทะเล(เมืองพัทยา) และผู้ประกอบการเดินเรือส่วนบริการนักท่องเที่ยวและการการขนส่งผู้โดยสารต่างๆ รับมอบแนวทางปฏิบัติ พร้อมให้ความร่วมมือ และตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ซึ่งจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย การขนส่งทางน้ำ การเดินเรือ การขนส่งคนโดยสาร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าว
จากการศึกษาพบว่า สาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุ มีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ประการแรก เกิดจากคนควบคุมเรือ ขับเรือด้วยความประมาท ใช้ความเร็วเกินกำหนด ไม่ลดความเร็วในเขตที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ฝ่าฝืนข้อบังคับในการเดินเรือ และบางครั้งยังบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่ากำหนด และประการที่สอง เกิดจากสภาพของเรือ ใช้เรือที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และที่ผ่านมา กรมเจ้าท่า ไม่มีเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากกรมเจ้าท่ามีเจ้าหน้าที่จำกัด จึงได้มอบอำนาจให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายอำเภอ และนายเมืองพัทยา มีอำนาจแทนกรมเจ้าท่า มีอำนาจในการขึ้นไปตรวจบนเรือได้ เพื่อตรวจว่าเรือนั้นได้รับอนุญาตใช้เรือหรือไม่ ใบอนุญาตหมดอายุหรือยัง คนเรือมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถตามที่กฎหมายกำหนด มีการบรรทุกผู้โดยสารมากกว่าจำนวนที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ มีการเขียนชื่อเรือหรือเลขใบอนุญาตไว้ในจุดที่กำหนดหรือไม่
นอกจากนั้นยังมีอำนาจในการตรวจว่า เรือที่จะเข้าเทียบท่าหรือจอดยังท่า นายเรือหรือผู้บังคับเรือ ได้ใช้ความเร็วต่ำและขับด้วยความระมัดระวังหรือไม่ การเดินเรือในแม่น้ำลำคลองต้องมีการใช้ความเร็วไม่เกินกว่าอัตราที่กำหนด และห้ามมิให้แล่นตัดหน้าเรือกลในระยะ 200 เมตร พร้อมทั้งมีอำนาจเปรียบเทียบปรับ ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนอำนาจในการสั่งยึดใบอนุญาตใช้เรือ หรือประกาศนียบัตรควบคุมเรือ ยังคงเป็นอำนาจของกรมเจ้าท่า
อย่างไรก็ตามเมื่อได้มีการประเมินผลว่า มาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในอ่าวพัทยาและเกาะล้าน สามารถใช้ได้ดี มีประสิทธิภาพ ก็จะจัดทำเป็น “พัทยาโมเดล”เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ ในจังหวัดระยอง ภูเก็ต หัวหิน ชะอำ ต่อไป
ทั้งนี้เรื่องความปลอดภัยทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญจะละเลยไม่ได้ เมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว ในแต่ละปีมีรายได้กว่า 1 แสนล้านบาท ต่อไปนี้ต้องสร้างเมืองพัทยาให้มีเอกลักษณ์เรื่องความปลอดภัย ในช่วง 3 เดือนแรก กรมเจ้าท่าจะคอยเป็นพีเลี้ยง ให้ความรู้ข้อมูลในกำกับดูแล ข้อแนะนำ ต่อองค์กรทีเกี่ยวข้องให้มีแนวทางปฏิบัติที่เข้มงวดพร้อมดูแลประชาชนนักท่องเที่ยวเป็นไปแนวทางเดียวกัน
กระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าโครงการความร่วมมือมาตรการความปลอดภัยทางน้ำจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง มอบอำนาจ “เจ้าท่า”ตามกฎหมายเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยยกเมือง “พัทยาโมเดล”ครั้งนี้จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางน้ำจากทุกภาคส่วนในเขตเมืองท่องเที่ยวให้ความร่วมมือเข้มงวดการบริการด้วยมาตรฐานความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเติบโต และท้ายที่สุดเชื่อว่าส่งผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทยแน่นอน
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าดำเนินการในเรื่องมาตรการความปลอดภัย อื่นๆ ที่จะใช้ในอ่าวพัทยาและเกาะล้านเช่น การจัดโซนความปลอดภัยสำหรับเดินเรือ โดยการวางทุ่น เพื่อแบ่งเขตกิจกรรมทางน้ำต่างๆ ให้ชัดเจน เช่น โซนเล่นน้ำ โซนเรือกล้วย โซนเจ็ทสกี โซนเรือลากร่ม การแบ่งช่องทางการเดินเรือ กำหนดจุดจอดเรือให้สอดคล้องกับฤดูกาล กำหนดจุดที่ต้องลดความเร็วชัดเจน