“…โครงการนี้เป็นโครงการหนึ่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ผมคิดว่ามีความพร้อมในการนำองค์ความรู้ผลงานวิจัยมาร่วมกันถ่ายทอดสู่ประชาชน ที่มีนัยของการกระจายประโยชน์อย่างเป็นธรรมสู่สังคม ชุมชน ท้องถิ่น โดยอาศัยทุนดั้งเดิมที่สังคมไทยมีจุดแข็ง ได้แก่ เกษตรกรรม วัฒนธรรมและคุณค่าทางวัฒนธรรม องค์ความรู้พื้นฐานของท้องถิ่นและเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านรายได้ ก่อเกิดความมั่นคงทางชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ ในความคิดของผมโครงการนี้จะเป็นโครงการที่ทำให้สังคมชุมชนไทย เกิดกระบวนการร่วมวิจัยและพัฒนากับนักวิจัยในการปฏิบัติจริงในพื้นที่ เกิดการค้นคว้า เกิดนวัตกรรม เกษตรกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อันจะนำไปสู่การจัดการองค์ความรู้ของชุมชนในอนาคต” ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข กล่าว
โครงการฯ ดังกล่าวมีเงื่อนไขสำคัญของการดำเนินงานอยู่ที่การผลักดันให้เกิดการปฏิบัติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จังหวัดขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ด้านการเกษตร ของ วว. และหน่วยงานพันธมิตร รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น มุ่งเน้นเทคโนโลยีที่ง่ายและเหมาะกับความรู้ของเกษตรกรและชาวบ้านผู้สนใจ ได้แก่ เทคโนโลยีการเพาะปลูกผักหวานป่า ต้นชมจันทร์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และการขยายพันธุ์ไก่พื้นเมือง (ไก่ประดู่หางดำ มข. 55)
เป้าหมายในการดำเนินโครงการ เกษตรกร ชุมชน และผู้สนใจ อย่างน้อย 300 ราย มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจของชุมชนได้อย่างน้อย 3 เทคโนโลยี
ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งสามองค์ความรู้ เกษตรกร ชุมชน และผู้สนใจ ได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการ การบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานวิจัย และเทคโนโลยีที่นำไปถ่ายทอด การให้คำปรึกษาด้านวิชาการจากนักวิจัย นักวิชาการ นอกจากนั้นยังมีการจัดนิทรรศการ เสนอผลงานด้าน วิจัย พัฒนา และเทคโนโลยี เกี่ยวกับ ผักหวานป่า ต้นชมจันทร์ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และพันธุ์ไก่พื้นเมือง (ไก่ประดู่หางดำ มข.55) ด้วย
วว. แปรรูปผักหวานป่า ส่งเสริมชุมชน สร้างอาชีพ ลดการทำลายสมดุลธรรมชาติ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา ประสบผลสำเร็จในการ “ปลูกผักหวานป่าเชิงระบบทางการค้า” ซึ่งเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยมีผักหวานป่าเป็นพืชหลัก และมีการปลูกพืชหลายระดับเพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางลบกับการเจริญเติบโตของผักหวานป่า โดยเริ่มจากปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น เช่น แคบ้าน กล้วย มะม่วง และสะเดา เป็นต้น เพื่อใช้เป็นไม้พี่เลี้ยงให้ร่มเงาที่ถาวร เนื่องจากตามธรรมชาติผักหวานป่าเจริญเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของไม้อื่น ตามด้วยการปลูกไม้ระดับกลางคือผักหวานป่าซึ่งเป็นพืชหลัก และการปลูกพืชระดับล่างเป็นพืชอายุสั้นที่ให้ผลผลิตได้เร็ว เช่น พืชผัก เป็นต้น
นอกจากนี้ วว. ได้วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผักหวานป่านอกเหนือจากการรับประทานสด โดยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปชาผักหวานป่าให้เป็น “ผลิตภัณฑ์ชาผักหวานป่าพร้อมดื่ม” มีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาใบหม่อนและชาดอกคำฝอย “แกงผักหวานป่าสำเร็จรูป” เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ วว. ในการเพิ่มมูลค่าผักหวานป่า โดยการนำยอดและใบอ่อนของผักหวานป่ามาอบแห้งในอุณหภูมิที่เหมาะสม พบว่าทำให้ยอดและใบอ่อนมีการเปลี่ยนแปลงของสีและคุณค่าทางโภชนาการเพียงเล็กน้อย กล่าวคือวิตามินซีของยอดผักหวานป่าโดยวิธีการทำแห้งเมื่อเปรียบเทียบกับยอดผักหวานป่าสด พบว่าวิตามินซีในยอดผักหวานป่าแห้งลดลงไม่เกินร้อยละ 10 ของยอดผักหวานป่าสด
วว. ส่งเสริมชุมชนปลูกต้นชมจันทร์ เสริมอาชีพ สร้างรายได้ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา ส่งเสริมชมชนปลูกต้นชมจันทร์ ซึ่งมีดอกสีขาวสวยงาม จะบานในเวลาตอนกลางคืน และกลิ่นหอม ในต่างประเทศ เช่น ในยุโรป และสหรัฐอเมริกาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ แต่บางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีการนำดอกมารับประทานเป็นอาหารโดยใช้ดอกตูมมาผัดกับน้ำมันหอย หรือลวกจิ้มกับน้ำพริก ผลจากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของดอกพระจันทร์พบว่าเป็นผักที่มีไขมันต่ำมากและมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน เหมาะแก่ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และยังประกอบด้วยวิตามินต่างๆ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบี เป็นต้น ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย
วว. เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้วยปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว.ประสบผลสำเร็จในการวิจัยพัฒนา “ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง” โดยนำวัตถุดิบจากมูลสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น มาทำการบดให้ละเอียด แล้วนำมาผสมกับปุ๋ยยูเรีย ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปัจจุบัน วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงแก่เกษตรกรทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับและมีความพึงพอใจในคุณสมบัติของปุ๋ยดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นปุ๋ยที่บำรุงทั้งต้นไม้และบำรุงดิน ทำให้ต้นข้าว ไม้ผล เช่น ทุเรียน ขนุน ลองกอง ลำไย ส้มโอ เจริญงอกงามดี ให้ผลผลิตสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันจะส่งผลถึงการเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต
มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พัฒนาไก่พันธุ์พื้นเมือง (ไก่ประดู่หางดำ มข. 55) มีลักษณะที่สำคัญคือ “โตดี ไข่ดก อกกว้าง” ซึ่งเป็นลักษณะตรงความต้องการของตลาด อัตราการเจริญเติบโตเมื่อเลี้ยงด้วยอาหารไก่เนื้อ พบว่าที่อายุ 12 สัปดาห์ เพศผู้มีน้ำหนัก 1,400 กรัม เพศเมียมีน้ำหนัก 1,017 กรัม สมรรถนะการให้ไข่เมื่อเลี้ยงด้วยอาหารไก่ไข่พบว่า จำนวนไข่สะสมที่อายุ 365 วัน เฉลี่ย 78 ฟอง จำนวนไข่ที่ผลิตครบ 1 ปี เท่ากับ 151 ฟอง ภายใต้ความร่วมมือนี้ได้มอบพันธุ์ลูกเจี๊ยบให้แก่เกษตรกร ชุมชนเพื่อนำไปเลี้ยง สร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป
ติดต่อ:
www.tistr.or.th 02-5779000