ร่วมบริจาค-สร้างอาคารใหม่ ‘ศูนย์การแพทย์ราชวิถี’ สถาบันการรักษาผู้ป่วยระดับตติยภูมิ

พุธ ๒๕ กันยายน ๒๐๑๓ ๑๐:๒๒
“วันหนึ่งๆ มีผู้ป่วยมาใช้บริการที่โรงพยาบาลราชวิถีเฉลี่ยต่อวันประมาณ 4.000 ราย ด้วยตัวอาคารที่ก่อสร้างมานานกว่า 30 ปี ก็เริ่มชำรุด ทรุดโทรม รองรับจำนวนผู้ป่วยไม่เพียงพอ ทางโรงพยาบาลราชวิถีจึงมีนโยบายที่จะสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทน และรองรับกับจำนวนผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้น นายแพทย์อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เผยถึงวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถีแห่งใหม่

บนใบหน้าของชาย ผู้เป็นผู้นำของเหล่าทีมแพทย์ พยาบาล พนักงานโรงพยาบาลราชวิถี นายแพทย์อุดม เชาวรินทร์ ยังเล่าต่อว่า เดิมโรงพยาบาลราชวิถี เป็นโรงพยาบาลหญิง ให้การรักษาและดูแลเกี่ยวกับการคลอดบุตร หรือรับตรวจรักษาเกี่ยวกับสูตินรีเวชโดยตรง เมื่อ ปี พ.ศ. 2519 ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าโรงพยาบาลราชวิถี และปรับบทบาทการรักษา บริการรักษาผู้ป่วยระดับตติยภูมิ หรือระดับกลางและระดับล่าง โดยรักษาทุกโรค และไม่จำกัดเพศ อายุ โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา จะเป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมาจากต่างจังหวัด

“บ่อยครั้งที่มีหนังสือแสดงความคิดเห็นจากผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา เรื่องของสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอาคาร ห้องตรวจโรค หรือสถานที่จอดรถ ทางโรงพยาบาลก็พยายามปรับปรุง ตามคำแนะนำให้กับทุกท่านที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลราชวิถี จนกระทั่งทางตัวโรงพยาบาลเอง เริ่มมีนโยบายที่จะดำเนินการ ปรับปรุง และสร้างอาคารศูนย์การแพทย์แห่งใหม่ เพื่อทดแทนอาคารเดิม ต้องใช้ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2543 กว่ารัฐบาลจะอนุมัติและสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ ก็ย่างเข้าปี 2554 โดยตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 2,100 ล้านบาท และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 1,900 ล้านบาท

ดังนั้นทางโรงพยาบาลราชวิถีต้องระดมเงินทุนจากผู้มีจิตศรัทธา บริจาคเงินเข้ากองทุนมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อนำมาเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์แห่งใหม่ และจัดซื้อครุภัณฑ์ที่จำเป็น”นายแพทย์อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เล่าถึงที่มาของโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถีแห่งใหม่

บรรยากาศภายในอาคาร ทางเดิน ห้องตรวจ ยังคงเบียดเสียดและเต็มไปด้วยผู้ป่วยหลายพันราย ยังรอคอยเพื่อรับการตรวจรักษาจากทีมแพทย์ ผู้มีประสบการณ์และมากความสามารถกันอย่างต่อเนื่อง

ภัคจิรา นามมนตรี ผู้ปกครองของ ด.ญ.ฐายิกา นามมนตรี หรือ น้องกัสจัง ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลราชวิถี เล่าว่า น้องกัสจัง ป่วยด้วยโรคเส้นประสาทหูเสื่อม เข้ารับการรักษามาประมาณ 1 ปี โดยเป็นเด็กที่อยู่ในความดูแลและได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ในการช่วยอุปการะค่าใช้จ่าย 100,000 บาท

“หลังการรักษา น้องกัสจังเริ่มมีพัฒนาการโตตามวัย เหมือนกับเด็กๆทั่วไปได้ดีแล้ว ในเรื่องของการรักษา ทางโรงพยาบาลราชวิถีได้ทำการรักษาและดูแลน้องกัสจังเป็นอย่างดี โรงพยาบาลราชวิถีมีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก และสถานที่คับแคบ ผู้ปกครองของน้องกัสจัง เล่าถึงสภาพภายในโรงพยาบาลราชวิถี

ธนัชญา หวังปาน คุณยายของ ด.ญ.ปริษา หวังปาน หรือ น้องส้ม เล่าเช่นกันว่า น้องส้ม ได้รับการอุปการะในการดูแลรักษาอาการป่วยจากโรคเส้นประสาทหูเสื่อม ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ได้รับการผ่าตัด ใส่เครื่องช่วยฟังแล้ว น้องส้มเริ่มมีพัฒนาการในการจดจำ รับรู้ คล้ายกับเด็กทั่วไป แต่ยังคงต้องมาเรียนการฝึกพูดที่โรงพยาบาลราชวิถีอยู่เป็นประจำ

“การเดินทางมาโรงพยาบาลราชวิถีก็ง่าย สะดวก แต่เกิดปัญหาตรงที่ไม่มีที่จอดรถ สถานที่จอดมีไม่เพียงพอ ถ้าจะให้มีที่จอด ก็ต้องออกจากบ้านมาตั้งแต่ตี 4 ตัวยายเองก็เคยเป็นผู้ป่วยของที่นี่ อยากเห็นการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงไปในเรื่องของสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของห้องตรวจโรค ห้องรักษาพยาบาลให้ดีมากขึ้น” ธนัชญา หวังปาน คุณยายของน้องส้มกล่าว

การก่อสร้างอาคารศูนย์แพทย์ราชวิถี กำลังเริ่มดำเนินการ ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังของผู้เข้ารับการรักษา ที่จะได้เห็นภาพตึกสูงกว่า 25 ชั้น ห้องตรวจใหญ่โตโอ่อ่า พื้นที่ที่เพียงพอต่อผู้ป่วยที่จะเข้ามารับการรักษาอีกเป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับ ปุณณะโรจน์ ปุณณสุขขีรมณ์ อดีตผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลราชวิถี เล่าว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตนได้เข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยอาการปวดท้อง เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นคือกล้องส่องลงไปในช่องท้อง แต่ในสมัยนี้เริ่มมีเครื่องมือที่ทันสมัยกว่านั้น และตนได้เห็นพัฒนาการของโรงพยาบาลราชวิถีที่จากเดิมมีผู้ป่วยและเตียงนอนเพียงไม่กี่เตียง จวบจนปัจจุบันมีเตียงผู้ป่วยกว่า 1,000 เตียง แต่พื้นที่ในการใช้สอย หรือห้องตรวจโรค กลับไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

“ผมเข้ารับการรักษากับที่โรงพยาบาลราชวิถีมา 20 กว่าปีแล้ว สมัยเมื่อ 20 ปีก่อน ผู้ป่วยยังไม่มีจำนวนมาก พบแพทย์ได้ไว ไม่ต้องรอนาน แต่สมัยนี้ต้องมานั่งรอเป็นครึ่งวันกว่าจะได้ทำการรักษา อีกทั้งพื้นที่ในโรงพยาบาล ยังคงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในปัจจุบัน” ปุณณะโรจน์ ปุณณสุขขีรมณ์ เล่าถึงการเข้ารับการรักษาในสมัยก่อน

นอกจากนั้น ในฐานะจิตอาสาด้านการร้องเพลง ประจำโรงพยาบาลราชวิถี ปุณณะโรจน์ ยังเล่าต่อไปว่า ณ ขณะนี้ตนเข้ามาเป็นประธานชมรมจิตอาสาด้านการร้องเพลง โดยจะเข้ามาร้องเพลง ให้กับผู้ป่วยให้รับฟัง เพื่อลดการคลายเครียดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องพื้นที่ในการทำกิจกรรม หากอาคารศูนย์การแพทย์ที่กำลังจะสร้างเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ กิจกรรมต่างๆ รวมถึงศูนย์การแพทย์ก็อาจจะดำเนินการไปได้ดีกว่านี้แน่

สำหรับท่านใดที่สนใจบริจาคสมทบทุนสร้างอาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี และจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ สามารถร่วมบริจาคได้ ดังนี้ บริจาคโดยตรงด้วยตัวเองที่ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ชั้น 1 โรงพยาบาลราชวิถี หรือบริจาคผ่านตู้รับบริจาคภายในโรงพยาบาลราชวิถี หรือบริจาคผ่านทางบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หมายเลขบัญชี 051-2-69056-1 ชื่อบัญชี ศูนย์การแพทย์ราชวิถี ในมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-354-7997-9

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ