ดร. วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรจุเรื่อง “การวางแผนและการจัดการธุรกิจเชิงกลยุทธ์” เข้าไว้ในการอบรมหลักสูตรนักบริหารSMEsระดับสูง“ SMEs Advance”ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ SMEs” รุ่น1 จำนวน 100 คนและ รุ่น 2 กว่า 120 คน นั้น หัวข้อการอบรมดังกล่าวได้เรียนเชิญ ดร. สมประสงค์ โกศลบุญ อาจารย์พิเศษ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ เพื่อช่วยให้ผู้บริหาร SMEs สามารถใช้เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาลดอุปสรรคด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์ และเพิ่มศักยภาพในการขยายกิจการสู่ตลาดใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ง่ายต่อการปรับตัวรับมือกับการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AEC)
ดร. สมประสงค์ ให้ข้อคิดแก่ผู้เข้ารับการอบรมว่า การเข้าใจถึงกลยุทธ์และการกำหนดพันธกิจและวิสัยทัศน์ รวมถึงการศึกษาเครื่องมือต่างๆ จะช่วยกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนองค์กรให้ไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้ เครื่องมือและเทคนิคที่ใช้เป็นกลยุทธ์การจัดการและการตัดสินใจทางธุรกิจมีให้เลือกใช้หลากหลายและหลายบริษัทรวมถึงบริษัทใหญ่ใช้แล้วเกิดผลดี โดยผู้บริหาร SMEs สามารถเลือกและนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพได้
นักบริหาร “SMEs Advance” รุ่น1 นายวศิน งามสรรพ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะกริ บิซิเนส จำกัด ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ใช้ในฟาร์มไก่ระบบออโตเมชั่น กล่าวว่าการได้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง SMEs Advance รุ่น 1 ครั้งนี้ทำให้ตนยิ่งเข้าใจว่า ผู้บริหารธุรกิจ SMEs มีความจำเป็นต้องมีระบบการวางแผนและการจัดการธุรกิจเชิงกลยุทธ์ในเชิงลึก เพื่อมาเพิ่มศักยภาพในการวางแผนและพัฒนาองค์กรให้รองรับกับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต
การได้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง SMEs Advance ทำให้ได้รับกลยุทธ์การจัดการธุรกิจในเชิงลึก ตรงจุดประสงค์ที่จะนำมาพัฒนาและยกระดับธุรกิจจาก SMEs ระดับเล็ก ขยายสู่ระดับกลาง และโตขึ้นเป็นธุรกิจใหญ่ต่อไป อีกทั้งมีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่กับธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากโลกในทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงมาเรียนรู้ติดตามและเพิ่มเติมสิ่งใหม่ให้ทันเหตุการณ์
“ผมมีแผนจะขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ในตลาดเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น จากเดิมเป็นธุรกิจที่ส่งขายผ่านข้ามพรมแดน ทางเขมรเองก็มีความลำบากในการทำธุรกิจข้ามพรมแดนทั้งในกฎระเบียบข้อปฏิบัติที่ค่อนข้างมาก ส่วนพม่า ผมขายให้กับเครือซีพีในพม่าเป็นผู้ทำตลาดให้ ซึ่งที่พม่าจะยังเข้าไปขยายได้ไม่มากนักเพราะติดเรื่องกฏเกณฑ์กำแพงภาษีที่ค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน”
นายวศิน ให้ความเห็นเพิ่มว่า ข้อจำกัด SMEs ของไทยในเรื่องการขาดเงินทุนนั้น เป็นเรื่องรอง ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวสินค้าที่ขายนั้น ตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือไม่ ซึ่ง SMEs ส่วนใหญ่ยังก้าวข้ามไปไม่ได้ หากทำตลาดได้ดีแล้ว ซัพพลายเออร์ต่างๆจะให้แหล่งทุน และการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจก็เป็น อีกปัจจัยหนึ่งที่ให้ SMEs ประสบความาสำเร็จ
นายสุรชัย ชัยโชติรุ่งเรือง ผู้อำนวยการด้านการตลาดและการขาย หจก.ไอ เอ็น เค กราฟิคดีไซน์แอนด์พริ้นต์ หุ้นส่วนและผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับพระสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรม แบรนด์ "พุทธรักษา" และ “มหามงคล”นักบริหาร “SMEs Advance” รุ่น1 เช่นกัน กล่าวว่า ตนเริ่มทำธุรกิจนี้เป็นปีที่ 3 ต้องการขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น จึงมองหาศักยภาพใหม่ๆที่จะเป็นเครื่องมือช่วยในเรื่องการวางแผนและการจัดการธุรกิจเชิงกลยุทธ์ เพราะโอกาสตลาดในประเทศยังมีอีกมาก ส่วนตลาดเพื่อนบ้าน เช่น พม่า และ สปป.ลาว ล้วนเป็นตลาดที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ และเป็นตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่จะต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จึงหวังว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า จะต้องติดตลาดเป็น 1ใน 5 ของผู้นำตลาดสังฆทาน และสิ้นปีนี้คาดว่ากิจการน่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 30%
“ผมใช้ความรู้ที่ได้จากการอบรมหลักสูตรต่างๆ มาพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์อยู่ตลอด และล่าสุดที่ได้โอกาส เข้ารับการอบรมหลักสูตร SMEs Advance รุ่นที่ 1 ของ สสว. มันช่วยเพิ่มองค์ความรู้ที่เคยมีอยู่บ้างไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ ให้สอดคล้องกันด้วย ที่ได้ประโยชน์ชัดเจนคือ การได้เข้าใจถ่องแท้ว่า ผมต้องสร้างจุดเด่นและจุดแตกต่างของตัวสินค้า ให้หนีห่างจากแบรนด์อื่นที่เป็นคู่แข่งขัน เพื่อให้แบรนด์ของเราเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในตลาด จนเกิดการขยายตลาดไปในที่สุด"
นายสุรชัย กล่าวเสริมอีกว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะตั้งตัวแทนจำหน่ายจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าให้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ติดต่อประสานงานกับผู้กระจายสินค้า 2 ราย แยกกันคนละแบรนด์สินค้า รายหนึ่งจะให้กระจายสินค้าทั่วประเทศ และอีกรายหนึ่งจะช่วยกระจายสินค้าในภาคอีสาน ส่วนตลาดเพื่อนบ้านนั้น อาจจะต้องใช้เวลา
นายสุรชัย กล่าวเสริมอีกว่า จากการทำธุรกิจเริ่มต้นเป็นหุ้นส่วนกับเพื่อน และเมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่งแล้ว จึงคิดต่อยอดขยายไปยังตลาดต่างประเทศในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากการหา Business Matching ในต่างประเทศทั้งพม่าและ สปป. ลาว ยังไม่พบผู้ที่ใช่และเหมาะสม
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
โทร 0-2298-3033 , 0-2298-3037