PwC ยังคาดว่า ยอดผลิตรถยนต์ทั่วโลกในปีนี้ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% เป็น 81 ล้านคัน โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากดีมานต์ที่ยังคงแข็งแกร่งของตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก (Developing Asia-Pacific) นำโดยจีน, อินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งความต้องการสะสมของผู้บริโภคในสหรัฐฯ หลังจากที่เผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการศึกษา PwC’s Autofacts 2013 Q3 Data Release ที่ผ่านมาว่า ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะขยายตัวนำหน้าทวีปอื่นๆในโลก โดยมี Contribution to Growth ระหว่างปี 2555 — 2560 ถึง 62% ในขณะที่อเมริกาเหนืออยู่ที่ 13.4%, สหภาพยุโรป (อียู) ที่ 11.7%, อเมริกาใต้ 6.7%, ยุโรปตะวันออก 6.3% และ ตะวันออกกลางและแอฟริกาที่ 3.4%
ในทางตรงกันข้าม ตลาดที่พัฒนาแล้วในเอเชีย-แปซิฟิก (Developed Asia-Pacific) จะเป็นภูมิภาคเดียวที่เห็นการหดตัว หรือมี Contribution to Growth ที่ -3.5% เนื่องจากบริษัทผู้ประกอบการรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น ยังคงเดินหน้าย้ายฐานการผลิตจากประเทศของตนมายังตลาดส่งออกในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
“ในระหว่างที่โลกยังคงรอดูทิศทางที่ชัดเจนของการสานนโยบายสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอียู เรายังคงมองว่าตลาดจีน อเมริกา และอาเซียน จะเป็นตัวที่ Drive การเติบโตของอุตสาหกรรมออโต้ของโลกในระยะยาว” นายศิระกล่าว “เราคาดว่าตลาดรถในยุโรป จะยังคงไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของดีมานต์ไปจนกว่าจะปี 2557”
“การลงทุนอย่างต่อเนื่องในตลาดกำลังพัฒนา จะยิ่งช่วยผลักดันให้ยอดการประกอบรถยนต์โลกทะลุหลัก 100 ล้านคันได้เป็นครั้งแรกในปี 2560” เขากล่าว
นายศิระ ยังกล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า อุตฯกำลังอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนถ่ายครั้งสำคัญ โดยได้รับปัจจัยบวกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐในหลายๆประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการฯและนักลงทุนต่างชาติ
ไทยลุยผลิตรถยนต์ อีโคคาร์ 2 หนุน
ในส่วนของประเทศไทย แม้ว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 จะมีทิศทางชะลอตัวหลังจากนโยบายรถคันแรกของรัฐฯหมดลง ส่งผลให้บรรดาค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นหลายราย ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ในประเทศรวมกันกว่า 80% ต่างรายงานยอดขายลดลงในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นาย ศิระกล่าวว่า “ผมยังมั่นใจว่า ตลาดรถยนต์บ้านเราจะยังคงความเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งอาเชีย’ เอาไว้ได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยระยะสั้นเข้ามากระทบบ้าง โดยเรามองว่ายอด Output ปีนี้จะยังคงเป็นไปตามเป้าที่สภาอุตฯวางไว้ที่ราว 2.55 ล้านคัน”
“เราเชื่อว่าการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากทั้งค่ายรถและซัพพลายเออร์ทั้งในและนอกประเทศ จะช่วยผลักดันการเติบโตของอุตฯยานยนต์ไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะแผนการผลิตรถยนต์ของไทยที่วางเป้าหมายผลิตรถยนต์จำนวน 3 ล้านคันภายในปี 2560 เพื่อขึ้นสู่เป็นอันดับ 5 ของโลก”
ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ขึ้นเป็นอันดับ 5 ของโลก หรือมียอดการผลิตรถยนต์ 3 ล้านคัน ได้ในปี 2560 จากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 9 ของโลก โดยมียอดการผลิต 2.5 ล้านคัน เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์ 2) จะเร่งผลักดันให้ไทยผลิตรถยนต์ได้มากขึ้น รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า มีผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนสนใจลงทุนอีโคคาร์ 2 เช่น มาสด้า ฟอร์ด และมีผู้ผลิตที่ลงทุนในอีโคคาร์ 1 อยู่ก่อนแล้ว
ก่อนหน้านี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ยอดผลิตรถยนต์ของไทยประจำเดือนสิงหาคม 2556 ชะลอตัวอยู่ที่ 193,074 คัน ลดลง 9.9% จากปีก่อน ทำให้ยอดผลิตรถในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.73 ล้านคันในปีนี้ และทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลงจากปีก่อนเหลือ 100,289 คัน ลดลง 22.6% อย่างไรก็ดี ส.อ.ท. ยังคงประมาณการ ยอดผลิตรถยนต์ในปีนี้ที่ 2.55 ล้านคัน เติบโต 4% โดยยอดผลิตรถยนต์ในช่วงที่เหลือของปีจะมีประมาณ 2 แสนคันต่อเดือน โดยค่ายรถยนต์จะหันมาเน้นตลาดส่งออกมากขึ้น
“แม้ว่าโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลจะหมดลง ผมมองว่าการส่งเสริมการผลิตอีโคคาร์ 2 จะเป็นประตูสู่การเติบโตระยะยาวของกลุ่มยานยนต์ไทย เพราะการส่งเสริมโครงการนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเรา ยังเปิดโอกาสให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ๆจากต่างประเทศทั้งฝั่งยุโรปและเอเชียเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศให้เติบโตได้ในระยะยาว” นายศิระกล่าว
“ไทยเรายังคงมีความได้เปรียบในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมนี้ เรามีฐานซัพพลายเออร์ที่ครบวงจร มีเทคโนโลยีที่ค่อนข้างพัฒนาไปมากกว่าเพื่อนบ้านบางประเทศ ด้วยความที่เป็นฐานการผลิตให้กับค่ายรถยักษ์ใหญ่มายาวนาน มีทักษะและ Know-How ที่ทันสมัย รวมทั้งมีไลน์การผลิตที่เน้นไปที่การส่งออกเป็นสำคัญอีกด้วย”
เทรนด์ ‘นวัตกรรม’ เพื่อ ยนตรกรรมแห่งอนาคต
เมื่อมองแนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์ในระยะข้างหน้า นายศิระ กล่าวว่า ความต้องการหรือดีมานต์สำหรับการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้กับรถยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน หรือการติดตั้งเครื่องนำทางรถยนต์ที่เป็นอุปกรณ์ Infotainment ในตัวจะขยายตัวสูงขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากเจ้าของค่ายรถฯจะหันมาให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาประยุกต์ใช้กับยานยนต์เพื่อกระตุ้นยอดขายและสอดรับกับความต้องการของผู้ใช้รถรุ่นใหม่
ผลการศึกษาของ PwC ระบุว่า ในขณะที่การผลิตรถยนต์ประเภท Hybrid, electric และ fuel cell เพื่อสิ่งแวดล้อมมีสัดส่วนเพียง 2.8% ของการผลิตทั่วโลกในปีที่ผ่านมา สัดส่วนดังกล่าวคาดจะเติบโตขึ้นเป็น 5% ภายในปี 2560 ด้วยความร่วมมือกันของอุตสาหกรรมรถฯ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนลดลงได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่ผู้ประกอบการในตลาดจะหันมาผลิตพาหนะประเภทนี้แบบเน้นปริมาณ (Mass Production)
นอกจากนี้ การนำเอาเทคโนโลยีอื่นๆมาประยุกต์ใช้กับรถยนต์ ได้แก่ ดีเซลสะอาด, ก๊าซซีเอ็นจี (CNG-Compressed Natural Gas) และ รถยนต์ไร้คนขับ (Driverless Vehicles) ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมรถฯกำลังเข้าสู่ยุคของการใช้นวัตกรรมใหม่
“เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ รถจะเป็นมากกว่ายานพาหนะทั่วๆไปที่พาเราไปถึงจุดหมายเท่านั้น แต่จะเป็นเหมือนสิ่งที่เราเรียกว่า Mobile Computing Stations หรือพาหนะไร้สายที่ช่วยคำนวณทิศทางและข้อมูลที่จำเป็นต่างๆในการขับรถคันนั้นๆ แต่นั่นย่อมมาซึ่งความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยต่างๆเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การจารกรรมข้อมูล ข้อมูลเจ้าของรถที่เป็นความลับ หรือความไว้วางใจในระบบการขับรถหรือยวดยานพาหนะต่างๆ” นายศิระกล่าว
Social Media จุดเปลี่ยนพฤติกรรมคนซื้อรถ
นายศิระยังกล่าวถึง การที่อิทธิพลของ ‘สังคมออนไลน์’ หรือ Social Media เข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมการซื้อรถของผู้บริโภคในปัจจุบันว่า จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการฯ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในระยะข้างหน้า
“ปัจจุบันมีผู้ซื้อรถที่พึ่งพาสื่อออนไลน์ในการช่วยตัดสินใจก่อนการซื้อรถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าไปศึกษาดู Model ของรถในแต่ละรุ่น การหาข้อมูลของรถคันใดคันหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเช็ค Feedback ของผู้ใช้รถในแต่ละยี่ห้อตามโพสต์ต่างๆ สาเหตุของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป สืบเนื่องมาจาก การเพิ่มขึ้นของผู้ซื้อรุ่นใหม่ หรือ Gen Y, การสื่อสารผ่านออนไลน์ และการเพิ่มขึ้นของการใช้อุปกรณ์สื่อสาร อย่างมือถือ ซึ่งเรามองว่าเทรนด์นี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต”
“มีผลจากการศึกษาที่น่าสนใจระบุว่า มีผู้บริโภคถึง 90% ที่เชื่อและไว้ใจในสิ่งที่เพื่อนโพสต์ หรือแนะนำบนหน้าสื่อออนไลน์ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อรถของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีผู้บริโภคกว่า 70% ที่มีแนวโน้มที่จะซื้อรถจากคำแนะนำบน Social Media อีกด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นสัญญาณของค่ายรถและผู้ประกอบการฯ ที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญหรือเพิ่มการลงทุนในการทำการตลาด หรือวางกลยุทธ์ โดยใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น มากกว่าที่จะเป็นการออกแคมเปญ หรือทำการตลาดแบบเดิมๆ” นายศิระกล่าวสรุป