นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การค้นหาโครงการต้นแบบและนำมาการถอดบทเรียนเพื่อให้เป็นแบบอย่างนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะในสังคมปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และในการบริหารงานปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับหลักฐานในเชิงประจักษ์ (evidence based) ดังนั้นกองทุนทั้งหลายที่กระทรวงฯรับผิดชอบ ซึ่งมีทั้งหมด ๕ กองทุน ได้แก่ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนผู้สูงอายุกองทุนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นกองทุนที่มีความโดดเด่น เพราะมีการดำเนินงานในระบบการกระจายกองทุนไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น และเป็นกองทุน ที่มีการให้เงินสนับสนุนโครงการแก่องค์การสวัสดิการสังคมมากที่สุดในบรรดากองทุนทั้งหมดของกระทรวงฯ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องนำเสนอผลการดำเนินงานให้เห็นถึงผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม และการประชุมเชิงปฏิบัติการคัดเลือกและถอดบทเรียนโครงการต้นแบบโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการตอบโจทย์ดังกล่าว โดยเฉพาะการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้เน้นกระบวนการถอดบทเรียนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโครงการต่างๆ ทำให้ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น
ส่วนงานสวัสดิการสังคมนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสวัสดิการที่มั่นคงให้แก่คนไทยทุกคน และในส่วนนโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคมได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการของส่วนราชการและกองทุนต่างๆ ร่วมกับอาสาสมัครภาคประชาชน รวมถึงชักจูงให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ เพื่อรวมพลังทุกภาคส่วนในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของชีวิตคนไทย โดยการใช้พื้นที่เป็นฐานกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญเครื่องมือหนึ่งในการบรรลุสู่นโยบายดังกล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้สิ่งที่อยากฝากในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ วันนี้ คือ ๑)กองทุนในส่วนของรัฐ ที่จัดตั้งขึ้นเป็นกองทุนที่ใช้หนุนเสริมให้การดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นกองทุนไม่สามารถหนุนเสริมทุกเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ ขอมาได้ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของแต่ละกองทุน โดยในส่วนของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมเน้นการสนับสนุนโครงการใหม่ที่ยังไม่มีใครดำเนินการ โครงการที่เป็นความคิดริเริ่มนวัตกรรม ก่อให้เกิดผลกระทบในภาพรวม และการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคส่วนต่างๆ ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๒)กองทุนถือเป็นเงินนอกงบประมาณ โดยเฉพาะกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมซึ่งมีปลัดกระทรวงฯ เป็นประธาน ได้มีการกระจายอำนาจ ให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัดดำเนินการแทน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมั่นใจว่าการใช้จ่ายเงินกองทุนมีความคุ้มค่า และสามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ๓)กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมมีขนาดไม่ใหญ่ แต่สามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อนสังคม และช่วยให้เครือข่าย ของกระทรวงฯ องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรสวัสดิการชุมชน องค์กรที่ทำงานด้านเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำเงินจากกองทุนไปดำเนินงานตามโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และ ๔)การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน เพื่อให้ได้โครงการที่เป็นต้นแบบ นอกจากจะเป็นกำลังใจให้แก่องค์การที่มีโครงการดีๆ แล้ว ยังเป็นแบบอย่างให้แก่องค์การอื่น ในการเขียนโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนจากกองทุน ซึ่งจะทำให้ได้โครงการที่ดี เพิ่มมากขึ้นในอนาคต.