ไนท์แฟรงค์เผยตลาดคอนโดชานเมืองขับเคลื่อนการเติบโตของตลาด คอนโดกรุงเทพฯช่วงครึ่งแรกของปีนี้

อาทิตย์ ๒๙ กันยายน ๒๐๑๓ ๑๕:๕๗
คุณริษิณี สาริกบุตร อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าคอนโดมิเนียมชานเมืองมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพมหานครด้วยจำนวน 22,465 ยูนิตหรือคิดเป็นประมาณ 70% ของโครงการเปิดตัวใหม่ทั้งหมด โดยการเติบโตนั้นเด่นชัดที่สุดในพื้นที่ใกล้กับเส้นทางขนส่งมวลชนส่วนขยายต่างๆ

ฝ่ายวิจัยไนท์แฟรงค์ประเทศไทยได้ทำการสำรวจอุปทานคอนโดมิเนียมของกรุงเทพมหานครในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีจำนวนยูนิตใหม่เข้าสู่ตลาดราว 32,244 ยูนิตหรือคิดเป็นการเติบโต 12% จากสิ้นปี ค.ศ. 2012 โครงการคอนโดมิเนียมใหม่ส่วนมากนั้นอยู่ในพื้นที่ชานเมือง ส่วนคอนโดมิเนียมในย่านรอบนอกของตัวเมือง และย่านธุรกิจใจกลางเมืองคิดเป็น 25% และ 5% ของโครงการเปิดใหม่ตามลำดับ

การเติบโตของคอนโดมิเนียมย่านชานเมืองได้รับอานิสงส์จากการขยายเครือข่ายขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายเส้นทางเดินรถไฟบีทีเอสจากอ่อนนุชไปถึงแบริ่งซึ่งครอบคลุมกรุงเทพฝั่งตะวันออกตามแนวถนนสุขุมวิทตอนนอกและจากกรุงธนบุรีไปบางหว้าซึ่งครอบคลุมทางใต้ของเมืองข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงเขตธนบุรี นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่จำนวน 13 โครงการรวม 5,486 ยูนิตขึ้นใกล้กับเส้นทางรถไฟเอ็มอาร์ทีสายสีม่วงส่วนขยายซึ่งเชื่อมต่อระหว่างโซนตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพจากบางซื่อไปยังนนทบุรี ส่วนบริเวณใกล้กับบีทีเอสส่วนขยายจากอ่อนนุชไปแบริ่งนั้นมีโครงการขึ้นใหม่ 12 โครงการรวม 3,136 ยูนิต

เมื่อนับจำนวนยูนิตใกล้เส้นทางขนส่งมวลชนส่วนขยายเหล่านี้แล้วได้เป็นจำนวนประมาณ 9,123 ยูนิตหรือ 46% ของอุปทานใหม่ทั้งหมดในช่วงครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 2013

คุณริษิณีกล่าวเพิ่มเติมว่าคอนโดมิเนียมใหม่ใกล้เส้นทางเดินรถไฟบีทีเอสส่วนขยายจากกรุงธนบุรีไปบางหว้ามีดีมานด์มากที่สุดหรือประมาณ 51% ของอุปทานใหม่ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว มีบริษัทผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายรายเข้าสู่ตลาดในเซ็กเมนท์นี้เนื่องจากเป็นทำเลสำคัญสำหรับการพัฒนาคอนโดมิเนียมจากการที่มีเส้นทางขนส่งมวลชนทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีซึ่งสามารถให้บริการประชาชนที่พักอาศัยในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี

พื้นที่ตั้งแต่ถนนสุขุมวิทตอนนอกจากอ่อนนุชไปสมุทรปราการก็ได้กลายมาเป็นทำเลสำคัญสำหรับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมด้วยเช่นกัน คอนโดมิเนียมในย่านนี้มีอัตราการขายที่ดี มียอดขายเกือบ 49.68% อยู่ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ การเติบโตตรงจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณที่ดินที่ยังมีเหลืออยู่และมีราคาไม่สูงเหมือนกับย่านถนนสุขุมวิทตอนใน ทั้งยังสามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้โดยใช้ทั้งถนนหรือระบบขนส่งมวลชนต่างๆด้วย พื้นที่ในย่านนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าขายปลีกและศูนย์จัดนิทรรศการในจำนวนที่เพียงพอต่อการใช้งาน ประกอบกับการที่ในปัจจุบันมีอุปทานในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำจึงทำให้เราเชื่อว่าจะต้องมีการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างแน่นอนในอนาคต

ตัวเลขจากฝ่ายวิจัยไนท์แฟรงค์ประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าอัตราการซื้อในตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพมหานครโดยรวมอยู่ในระดับที่ดี ยูนิตที่เปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีอัตราการซื้อประมาณ 56.55% หรือขายได้แล้ว 18,234 ยูนิต สำหรับในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานครนั้นอัตราการซื้อก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 52.81% หรือขายได้แล้ว 11,864 ยูนิต

อุปสงค์สำหรับคอนโดมิเนียมในย่านชานเมืองกรุงเทพมหานครจะอยู่ในเซ็กเมนท์ระดับกลางและระดับล่าง มีกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายคือกลุ่มที่เดิมใช้วิธีเช่าอพาร์ทเมนท์พักอาศัย แต่ในปัจจุบันต้องการเป็นเจ้าของยูนิตในคอนโดมิเนียมและผ่อนค่างวดในระดับที่ใกล้เคียงกับเงินที่เดิมจ่ายเป็นค่าเช่า ห้องจึงมีขนาดเล็กแต่ผู้ซื้อก็ได้ประโยชน์จากการที่ได้อยู่ใกล้กับเส้นทางของบีทีเอสหรือเอ็มอาร์ที

คอนโดมิเนียมย่านชานเมืองที่มีราคาขายเฉลี่ยสูงสุดคือโครงการตามเส้นทางบีทีเอสส่วนขยายจากกรุงธนบุรีไปบางหว้าซึ่งสร้างเสร็จแล้ว มีราคาอยู่ที่ราว 106,083-109,111 บาทต่อตารางเมตรซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทยทำโครงการใกล้กับสถานีบีทีเอส อาทิ Ideo Sathorn-Thapra และ Nye by Sansri ซึ่งมีราคายูนิตขนาดประมาณ 30 ตารางเมตรแบบหนึ่งห้องนอนอยู่ที่ราว 2.79-2.99 ล้านบาท ราคาขายโดยเฉลี่ยของโครงการที่ตั้งอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนขยายจากอ่อนนุชไปแบริ่งอยู่ที่ 85,046-97,672 บาทต่อตารางเมตร และราคาขายโดยเฉลี่ยของโครงการที่ตั้งอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีม่วงอยู่ที่ประมาณ 56,330-65,341 ต่อตารางเมตร

คุณริษิณี คาดว่าอุปทานของโครงการคอนโดมิเนียมย่านชานเมืองของกรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงส่วนขยายของเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนในเขตธนบุรี บริษัทผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อตอบรับอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ซื้อที่พักอาศัยเป็นครั้งแรกซึ่งต้องการคอนโดมิเนียมที่สามารถทำให้ตนเดินทางเข้าเมืองได้โดยสะดวกโดยการใช้ระบบขนส่งมวลชน แต่การซื้อยูนิตในโครงการใกล้รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีม่วงยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า ปัจจุบันยังมีจำนวนยูนิตเหลืออีกมาก ด้วยเหตุนี้เองผู้พัฒนาต่างๆจึงควรระมัดระวังว่าอาจเกิดสภาวะโอเวอร์ซัพพลายในอนาคตได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ