เปิดข้อมูลชะตากรรมเด็กในสถานกักตัวแรงงานต่างด้าว กับการจัดการของรัฐไทย : ควรผลักดันหรือคุ้มครอง

จันทร์ ๓๐ กันยายน ๒๐๑๓ ๑๖:๕๕
คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) จัดแถลงข่าวในหัวข้อ “เปิดข้อมูลชะตากรรมเด็กในสถานกักตัวแรงงานต่างด้าว กับการจัดการของรัฐไทย : ควรผลักดันหรือคุ้มครอง” ชี้ กระบวนการในการดูแลเด็กของ ตม.ไทยยังมีปัญหา เอ็นจีโอและนักวิจัยเปิดข้อมูลเด็กถูกลิดรอนสิทธิ และถูกตีตราเป็นอาชญากร เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหา ให้แยกเด็กออกจากการคุมขังรวมกับผู้ใหญ่พร้อมทั้งจัดสวัสดิการให้เด็กทุกด้าน และควรจัดให้มีหน่วยงาน กลไกป้องกันระดับชาติในการดูแล

(27 ก.ย. พ.ศ.2556) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) จัดแถลงข่าวในหัวข้อ“เปิดข้อมูลชะตากรรมเด็กในสถานกักตัวแรงงานต่างด้าว กับการจัดการของรัฐไทย : ควรผลักดันหรือคุ้มครอง”

นางสาวพรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์ นักวิจัยอิสระกล่าวว่าประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on Rights of the Child : CRC) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 แต่ปัจจุบันยังคงพบปัญหาและข้อท้าทายต่อการดําเนินการเพื่อให้เด็กในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิ โอกาสต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ จึงได้จัดทำรายงานการศึกษาสถานการณ์เด็กต่างชาติในสถานกักกันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง กรณีศึกษาสำนักงานซอยสวนพลู กรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบแนวทางการดูแลและคุ้มครองเด็กของเจ้าหน้าที่วิชาชีพให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก โดยพบว่ามีหลายประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข อาทิ 1.ในสถานกักตัวคนต่างด้าว ผู้ต้องกักที่เป็นเด็กบางรายไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวหรือผู้ปกครอง และเด็กกลุ่มนี้ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ต้องกักที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งเด็กบางคนอายุน้อยเกินกว่าจะดูแลตัวเองได้และอาจอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิด 2.การที่เด็กต้องเข้ามาอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่มีระบบการรับตัวผู้ต้องกักเด็กและผู้ใหญ่ไม่แตกต่างกัน ทำให้เด็กถูกลิดรอนเสรีภาพ และการทำทะเบียนประวัติในฐานะผู้ต้องหากระทำความผิดนับเป็นการตีตราเด็ก 3.ในเรื่องของบริการพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตและสุขอนามัยมีความแออัดและไม่ได้รับการจัดการที่ดีเพื่อการอยู่อาศัย อาทิ มีขยะที่หมักหมมและกองสุมไว้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ไม่มีคนทำความสะอาจ อากาศไม่ถ่ายเท ฯลฯ 4.เด็กมีปัญหาด้านสุขอนามัย เด็กหลายคนเจ็บป่วยด้วยโรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ และอยู่ในภาวะทุพโภชนาการเพราะได้รับสารอาหาร

ไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีภาวะโรคเครียด ซึมเศร้า หวาดกวังหรือแยกตัวจากสังคม 5.เด็กที่อาศัยอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการศึกษาเพราะไม่มีการจัดการ สนับสนุนการศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนาให้แก่เด็กที่เป็นผู้ต้องกักอย่างเป็นรูปธรรม 6.ผู้ต้องกักทั้งเด็กและผู้ใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา

7.เด็กต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มสามสัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ถูกละเมิดในรูปแบบต่างๆจากนายหน้า นายจ้าง สถานประกอบการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นผู้เสียหายที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งไม่มีหน่วยงานที่เข้าไปรับผิดชอบดูแล ให้การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของเด็ก 8.การดูแลของเจ้าหน้าที่ไม่ทั่วถึง ไม่มีมาตรการดูแลเด็กหญิงอย่างเหมาะสม9.เด็กที่ถูกดําเนินการผลักดันกลับนั้นมีข้อห่วงใยในกระบวนการส่งกลับ มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะมักถูกละเลยในประเด็นช่องทางกลับตามพรมแดนที่เหมาะสม รวมถึงไม่มีหลักประกันความปลอดภัยเมื่อเดินทางถึงภูมิลําเนาในประเทศต้นทาง และ 10. การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมืองไม่มีหลักเกณฑ์อันเป็นมาตรฐาน และบางครั้งการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้คํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่ง อาจเป็นการละเมิดสิทธิ ทรมาน การปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย และเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของเด็ก

ด้านนายสมพงษ์ สระแก้วผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่ผ่านมาในพื้นที่ อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ที่ตนทำงาน จะมีเด็กซึ่งเป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติถูกจับและพรากจากพ่อแม่ ในกรณีที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งเราก็จะต้องเข้าไปเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเด็กบางคนที่ถูกจับไปก็เป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งความจริงควรได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้แล้วยังมีเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาโดยไม่มีเอกสารใดๆ เด็กเหล่านี้ก็จะถูกจับและเข้าสู่กระบวนการของกฎหมาย โดยเด็กจะถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจหรือถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งกระบวนการของการส่งกลับมีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก เพราะเด็กที่ถูกจับไปส่วนใหญ่จะไม่สามารถพึ่งตนเองได้ และครอบครัวของเด็กไม่ได้อยู่ในประเทศต้นทาง ดังนั้นจึงไม่มีใครดูแล และเป็นเหตุทำให้เด็กเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ตกเป็นเครื่องมือในกระบวนการนายหน้าที่จะเข้าไปหาผลประโยชน์จากเด็กกลุ่มนี้ ทั้งนี้เด็กที่ไม่มีเอกสารก็จะถูกหาผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยการเรียกรับเงินจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กเพื่อให้เด็กได้อยู่ในประเทศไทยต่อ เด็กจึงต้องเผชิญกับปัญหาทั้งกระบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ และการรีดไถจากเจ้าหน้าที่ด้วย

นอกจากนี้เมื่อเด็กถูกจับไปที่สถานกักตัวแรงงานต่างด้าวต้องถูกนำไปขังรวมกับผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อสามปีที่ผ่านมาเคยมีกรณีของเด็กลูกหลานแรงงานต่างชาติเสียชีวิตระหว่างที่ถูกคุมขังด้วย และยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเสียชีวิตได้ อีกทั้งปัจจุบันเด็กที่ถูกจับยังมีอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการในการดูแลเด็กและไม่ตีตราเด็กให้เป็นอาชญากรและใช้กฎหมายผู้ใหญ่มาบังคับใช้กับเด็ก รวมทั้งควรมีการจัดอบรมครอบครัวแรงงานให้มีความรู้ความเข้าใจหากเด็กในครอบครัวถูกจับกุม เพื่อเป็นการป้องกันการหาผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่และกระบวนการนายหน้า

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า เด็กถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ได้มีเจตนาในการทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง โดยหลักการแล้วเด็กไม่ควรถูกทำประวัติเป็นอาชญากร เพราะตามหลักการทำงานของสถานกักตัวแรงงานต่างด้าว เด็กจะต้องถูกขึ้นทะเบียนและทำให้มีประวัติอาชญากรทันที ทั้งนี้มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกจับเพราะการหลบหนีเข้าเมืองมายังประเทศไทย หากแต่ถูกจับในขณะที่เกิดในประเทศไทย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับเด็กเหล่านี้ และที่สำคัญเด็กไม่ควรถูกกักขังอยู่ในสถานที่ที่ใช้ระบบเดียวกับเรือนจำ เพราะจะทำให้เด็กเสียสิทธิในหลายเรื่อง นอกจากนี้ควรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิทั้งทางด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม และสาธารณสุขที่เด็กๆ ควรจะได้รับ

สำหรับข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองคือ1.ต้องจัดให้มีบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสุขอนามัยที่ได้มาตรฐานต่อการพัฒนาด้านร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรมและสังคมของเด็ก เช่น น้ำดื่มและน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอ จัดให้มีห้องพิเศษเฉพาะและอุปกรณ์สำหรับดูแลแม่และเด็กอ่อนจัดอาหารสอดคล้องกับความเชื่อ วัฒนธรรม และศาสนาและต้องมีรูปเคารพ สถานที่ และเวลา เพื่อให้สามารถประกอบกิจกรรมและปฏิบัติพิธีกรรมทางความเชื่อและศาสนาได้นอกจากนี้ควรเพิ่มจุดติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่สำคัญ2.ข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบในการดูแลและจัดการเด็กโดยเด็กต้องอยู่ร่วมกับบิดาและมารดา หรือผู้ปกครอง และได้รับการดูแลเลี้ยงดูโดยไม่ถูกแยกจากครอบครัว และควรอยู่ภายนอกสถานกักตัว เช่น ในบ้านพักเด็กและครอบครัวของหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน หรือหากอยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เด็กจะต้องได้อยู่ร่วมกับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองในสถานกักตัวด้วย และจะต้องไม่ถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว เช่น การจัดพื้นที่แยกเฉพาะสำหรับแต่ละครอบครัว3. ควรเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและบุคลากรวิชาชีพเพศหญิงที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเด็ก ให้มีจำนวนเพียงพอและต้องจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่เข้าใจและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในเรื่องหลักการ ระบบ และกฎเกณฑ์การปฏิบัติต่อเด็กและควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้มีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็ก ตลอดจนพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ด้วย 4. ควรสนับสนุนและเปิดโอกาสทางการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่เด็กทุกคนรวมทั้งควรสนับสนุนและจัดกิจกรรมการพัฒนาความรู้และทักษะในการดำรงชีวิต อาทิ ความรู้เรื่องสิทธิและกฎหมาย การย้ายถิ่นที่ปลอดภัย สนับสนุนกิจกรรมการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในเทศกาลทางสังคม ศิลปวัฒนธรรม นันทนาการและวันสำคัญทางศาสนา และที่สำคัญเด็กต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการคุ้มครองทุกรูปแบบจนสิ้นสุดกระบวนการก่อนการส่งกลับ

สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว คือควรจัดให้มีหน่วยงาน กลไกป้องกันระดับชาติ (National Preventive Mechanism) ตามพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย้ำยีศักดิ์ศรีในการตรวจเยี่ยม และรายงานสถานการณ์ในที่ต้องกักอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อผู้ที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. ARDA จับมือ ฟาร์ม เอ็กซ์โป และพันธมิตร เปิดศึก AGRITHON by ARDA Season 2 เฟ้นหาสุดยอดไอเดียปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรไทย ชิงทุนวิจัยรวมกว่า 100
๑๘ เม.ย. กรุงศรี ฉลอง 80 ปี ดูหนัง 80 บาท ที่ Major Cineplex เมื่อชำระด้วยบัตรกรุงศรี เดบิตและบัตร Krungsri Boarding
๑๘ เม.ย. แบรนด์ซุปไก่สกัด รณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในโครงการ สมองล้าอย่าขับ พักดื่มแบรนด์ จับมือ ตำรวจทางหลวง และ ตำรวจจราจร
๑๘ เม.ย. ซัมซุงจัดใหญ่! เป็นเจ้าของ ตู้เย็น Side by Side รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมรับสิทธิพิเศษแบบจุใจ ได้แล้ววันนี้
๑๘ เม.ย. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเมษายนนี้
๑๘ เม.ย. EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
๑๘ เม.ย. ปักหมุด! เตรียมจัดงาน PET Expo Thailand 2025 จัดยิ่งใหญ่ครบรอบ 25 ปี
๑๘ เม.ย. ลดคลายร้อน ช้อปแลคตาซอย 1,000 ลด 100 พร้อมชวนร่วมสนุกถ่ายภาพคู่แลคตาซอย ลุ้น 10 รางวัล
๑๘ เม.ย. DITP ประชุมผู้จัดแสดงสินค้า เตรียมความพร้อมสู่เวที THAIFEX - ANUGA ASIA 2025
๑๘ เม.ย. โรงแรมเครือดุสิตธานี เปิดตัวโปรพิเศษต้อนรับซัมเมอร์ 'A Night on Us' เติมเต็มวันพักผ่อนอย่างมีความสุขกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก