นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ยังพบอุปสรรคในหลายด้าน ทั้งปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกพื้นที่ป่าของกลุ่มนายทุน การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และไฟป่าที่ส่งผลให้พื้นที่ป่าของประเทศลดลง เกิดความแห้งแล้งและขาดแคลนแหล่งน้ำและอาหารของชุมชนท้องถิ่นและเป็นสาเหตุให้เกิดสภาวะโลกร้อนซึ่งมีอิทธิพลต่อการเกิดภัยธรรมชาติที่นับวันจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น กรมป่าไม้ได้เร่งดำเนินการและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกป่าและการฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนมา ทั้งนี้ การส่งเสริมการจัดการป่าชุมชน เป็นโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งกรมป่าไม้ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของชุมชนที่จะเข้ามาร่วมกับภาครัฐในการรักษาทรัพยากรป่าไม้ โดยการบริหารจัดการพื้นที่ป่ารอบชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง ภาคเอกชนนับเป็นแนวร่วมที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยกรมป่าไม้ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในการจัดทำโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน เพื่อสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนให้เกิดการนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาป่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสร้างเครือข่ายให้ชุมชนสามารถจัดการป่าในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยนับตั้งแต่ที่ได้ดำเนินโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีโครงการป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนกับกรมป่าไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากจำนวน 6,536 แห่ง รวมเป็นพื้นที่ป่าประมาณ 2.1 ล้านไร่ ในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 8,782 แห่ง ทั่วประเทศ รวมเป็นพื้นที่ป่ามากกว่า 3.5 ล้านไร่ ณ เดือนกันยายน ปี 2556
นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ทำโครงการ“คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ตั้งแต่ปี 2551 พบว่า ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีจำนวนป่าชุมชนที่จัดตั้งเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าช่วงก่อนมีโครงการ เกิดเครือข่ายป่าชุมชนที่เชื่อมโยงกันทั่วประเทศซึ่งเครือข่ายเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการดูแลปกป้องป่าของชาติให้เหลืออยู่จนถึงวันนี้ การขับเคลื่อนโครงการระยะที่ 2 นี้ บริษัทฯ ตั้งใจสานต่อเจตนารมณ์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยสนับสนุนนโยบายป่าชุมชนของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นแนวทางรักษาและเพิ่มผืนป่าที่มีประสิทธิภาพและได้ผลเป็นรูปธรรม จากการทำงานที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ตระหนักว่า ป่าชุมชนทุกแห่งได้ยืดหยัดต่อสู้ปกป้องป่าอย่างไม่ย่อท้อ เพราะ “ป่าคือชีวิต” ของทุกชุมชน
“บริษัทฯ พร้อมส่งเสริมทุกชุมชนที่ยึดมั่นอุดมการณ์รักษาป่าไม้ของประเทศให้เดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง ช่วยกันขยายและจุดประกายความคิด การตระหนักรู้ของคนในสังคมให้เห็นคุณค่าของป่าไม้และมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมป่าไม้ของชาติให้คงอยู่จากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ บริษัทฯและชุมชน ภายใต้โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน จะช่วยผลักดันให้การดูแลป่าของชุมชนให้เข้มแข็งมากขึ้น ช่วยให้การบุกรุกทำลายป่าลดน้อยลง และผืนป่าคงอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย” นายพงษ์ดิษฐกล่าว
สำหรับการดำเนินกิจกรรมการประกวดป่าชุมชนตัวอย่าง โครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2556 นั้น มีป่าชุมชนสมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 935 แห่งทั่งประเทศ โดยมีป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลจำนวน 132 แห่ง ดังนี้
รางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และจะได้รับเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชนจำนวน 200,000 บาท ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านดงห้วยเย็น ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
ทั้งนี้ ป่าชุมชนบ้านดงห้วยเย็น จ.ลำพูน เดิมเป็นป่าไม้ที่ถูกบุกรุกทำลายจากการทำสัมปทานเหมืองแร่และการลักลอบตัดไม้ ชาวบ้านมีความตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจึงได้จัดประชุมชาวบ้านและจัดตั้งป่าชุมชนขึ้น พร้อมตั้งกฎระเบียบของป่าชุมชนเพื่อยึดถือปฏิบัติกันในชุมชนและจัดกิจกรรมดูแลรักษาป่า จนทำให้ป่าให้มีสภาพกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ปัจจุบันป่าชุมชนบ้านดงห้วยเย็นเป็นป่าที่มีระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารหลายสายที่หล่อเลี้ยงชุมชน เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า อาทิ นกยูง เก้ง หมูป่า เป็นแหล่งหาอาหารป่าของชาวบ้าน แหล่งสมุนไพรรักษาโรค ชุมชนได้มีการจัดทำประปาภูเขาเพื่อใช้ภายในชุมชน การจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติเชิงนิเวศน์ในป่าชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และการถ่ายทอดและให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ป่าแก่เยาวชนในชุมชน
รางวัลรองชนะเลิศ ซึ่งจะได้รับโล่เกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชนแห่งละ 100,000 บาท จำนวน 3 รางวัล ดังนี้
- ป่าชุมชนบ้านวังศิลาดิเรกสาร ตำบลเพิ่มพูนทรัพย์ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
- ป่าชุมชนบ้านตาดรินทอง ตำบลธาตุทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
รางวัลป่าชุมชนดีเด่นด้านการจัดการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษของปีนี้ ที่มุ่งเน้นในการเชิดชูป่าชุมชนที่มีการพัฒนาป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน มีความเข้าใจและนำหลักการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ มีการใช้ผลิตผลจากป่าอย่างคุ้มค่า พออยู่พอกินและไม่เบียดเบียนผู้อื่น ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ตำบลสุคิริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจะได้รับโล่รางวัลเกียรติยศจากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชนจำนวน 100,000 บาท
รางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด มีจำนวน 64 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากอธิบดีกรมป่าไม้และเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชนแห่งละ 25,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 63 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากอธิบดีกรมป่าไม้ และเงินกองทุนการอนุรักษ์ป่าชุมชนแห่งละ 10,000 บาท