“ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เยี่ยมชมการดำเนินงาน วว.

อังคาร ๐๑ ตุลาคม ๒๐๑๓ ๑๖:๕๑
“ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เยี่ยมชมการดำเนินงาน วว. มอบนโยบายใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับ SMEs/OTOP สร้างความเข้มแข็งประเทศ

ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เยี่ยมชมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมี นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว.พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน วว. ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2556 ณ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

“...หลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ SMEs เพราะเป็นฐานเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง วว. จะมีบทบาทสำคัญต่อการช่วยผู้ประกอบการด้านนี้ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ช่วยยกระดับ OTOP ซึ่งผู้ที่จะทำให้ OTOP มีคุณภาพดีขึ้นคือกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะต้องไปร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยต่อไป เชื่อมั่นว่า วว. จะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ วว. ยังสามารถเข้าไปช่วยภาคเอกชนในด้านการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชสมุนไพร ซึ่งมีมูลค่าการค้าสูงมาก ทั้งทางด้านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และการบรรจุภัณฑ์...”ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข กล่าวตอนหนึ่งในโอกาสมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่ วว.

สำหรับการเยี่ยมชมการดำเนินงานของ วว. ในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของ วว. ดังนี้

ห้องปฏิบัติการพลาสติกชีวภาพ วว. จัดตั้งศูนย์ทดสอบและรับรองพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขอรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการได้ไม่ต่ำกว่า 30% โดยศูนย์ทดสอบฯ นี้ดำเนินงานตามข้อกำหนดการทดสอบสมบัติของพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพของมาตรฐานสากล ISO 17088 ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ข้อกำหนดพลาสติกสลายตัวได้ (มอก. 17088-2555)

การวิจัยและพัฒนาสาหร่าย ซึ่ง วว. เป็นหน่วยงานเพียงแห่งเดียวในประเทศที่มีการดำเนินงานด้านสาหร่ายอย่างครบวงจร ได้แก่ วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริการด้านสาหร่ายน้ำจืดมากว่า 25 ปี เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือจัดการคลังสาหร่าย เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ตามเป้าหมายการใช้ประโยชน์ กลางน้ำคือศึกษาสภาพที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยง ทั้งระดับห้องปฏิบัติการและกลางแจ้ง ปลายน้ำคือวิจัย พัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงระดับต้นแบบกลางแจ้ง

เทคโนโลยีพลังงานทดแทน ณ อาคารพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานต้นแบบระบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูง เน้นการใช้วัตถุดิบจากพืชที่ไม่ใช่อาหาร โดยเลือกน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงาน

ห้องปฏิบัติการฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนายาจากสมุนไพรไทยอย่างครบวงจร เพื่อปรับปรุงมาตรฐานสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับสำหรับการใช้ภายในประเทศและเพื่อการส่งออกโดยมีขอบข่ายการดำเนินงานดังนี้ วิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรไทยเพื่อเป็นวัตถุดิบ ยา เครื่องสำอาง เครื่องหอม ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน รวมทั้งวิเคราะห์ ทดสอบสารสำคัญ ตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้แก่ภาครัฐและเอกชน

การวิเคราะห์/ทดสอบระบบรางรถไฟ ทั้งนี้ วว. ได้ให้บริการทดสอบและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมด้านการประเมินชิ้นส่วนระบบรางและชิ้นส่วนรถไฟ อาทิเช่น หมอนรถไฟ รางรถไฟ เครื่องยึดเหนี่ยวรางรถไฟ ชุดกันตกราง รอยเชื่อมต่อราง และโบกี้ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย มาตรฐาน มอก. และมาตรฐาน AREA (American Railway Engineering Association) ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการประเมินสมรรถนะและอายุการใช้งานข้อต่อขยายตัวสะพานต้านทานแผ่นดินไหวตามมาตรฐานสากล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ