นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า บ้านอยู่อาศัยและภาคธุรกิจที่ซื้อประกันภัยพิบัติจะได้รับความคุ้มครองภัยพิบัติในรูปของน้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ โดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะต้องเข้าข่ายลักษณะภัยพิบัติ ดังต่อไปนี้ คือ คณะรัฐมนตรีประกาศตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย หรือค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกัน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยมากกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป หรือกรณีแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือกรณีลมพายุที่มีความเร็วลมพายุตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป
กรณีภัยพิบัติจากน้ำท่วม กองทุนฯ จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความสูงของระดับน้ำท่วมจากพื้นอาคาร ดังนี้ คือ (1) น้ำท่วมพื้นอาคารจะได้รับความคุ้มครองที่ร้อยละ 30 ของวงเงินการจำกัดความรับผิด (2) ระดับน้ำสูง 50 ซม.จากพื้นอาคารจะได้รับความคุ้มครองร้อยละ 50 ของวงเงินการจำกัดความรับผิด (3) ระดับน้ำสูง 75 ซม. จากพื้นอาคารจะได้รับความคุ้มครองร้อยละ 75 ของวงเงินการจำกัดความรับผิด และ (4) ระดับน้ำสูง 100 ซม. จากพื้นอาคารจะได้รับความคุ้มครองเต็มวงเงินของการจำกัดความรับผิดไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนในกรณีประชาชนที่มีห้องพักในคอนโดมีเนียมสูงอาจไม่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม แต่ยังมีความเสี่ยงจากภัยลมพายุ แผ่นดินไหว และสึนามิ ซึ่งหากประชาชนซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติก็จะได้รับความคุ้มครองในทรัพย์สินที่เกิดความเสียหายจากภัยดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ดี ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตรับน้ำหรือกักเก็บน้ำไม่สามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติได้ เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือและชดเชยโดยตรงแก่ประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว
นายพยุงศักดิ์ฯ กล่าวว่า กรณีการซื้อประกันภัยพิบัติประเภทบ้านอยู่อาศัย ประชาชนสามารถซื้อ ความคุ้มครองประกันภัยพิบัติเพื่อรับความคุ้มครองมากกว่า 100,000 บาทหรือน้อยกว่า 100,000 บาท ได้ทั้ง 2 กรณี โดยในกรณีซื้อความคุ้มครองน้อยกว่า 100,000 บาท ผู้เอาประกันจะจ่ายค่าเบี้ยประกันอัตราเดียวทั่วประเทศที่ร้อยละ 0.5 ของทุนเอาประกัน เช่น 80,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะจ่ายเบี้ยประกันภัยจำนวน 400 บาท ส่วนกรณีที่ซื้อความคุ้มครองเกิน 100,000 บาท ในส่วนความคุ้มครองที่เกินประชาชนสามารถติดต่อบริษัทประกันภัยโดยตรง ซึ่งบริษัทประกันภัยจะคิดอัตราเบี้ยประกันภัยตามอัตราตลาด
กรณีที่เป็นบ้านเช่า หรืออพาร์ทเม้นท์ ผู้เช่าสามารถซื้อกรมธรรม์เพิ่มเติมเพื่อให้ความคุ้มครองทรัพย์สินของตัวเองได้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยไม่ถือว่าเป็นการทำประกันภัยพิบัติซ้ำซ้อนกับเจ้าของกิจการที่ซื้อความคุ้มครองอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างไว้แล้ว
“แม้ขณะนี้ยังไม่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ซื้อประกัน แต่กองทุนฯ ยืนยันว่ามีฐานะที่แข็งแกร่งและสามารถชดเชยค่าสินไหมทดแทนได้ทั้งหมดในกรณีการเกิดภัยพิบัติ ดังนั้นแม้สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในขณะนี้ยังไม่ถือว่าเข้าข่ายลักษณะความรุนแรงถึงขั้นเป็นภัยพิบัติ แต่ประชาชนและภาคธุรกิจควรตระหนักถึงการป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน ซึ่งกองทุนฯ คิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยที่เป็นธรรมในอัตราร้อยละ 0.5-1.25 ต่อปี” นายพยุงศักดิ์กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2555 — 9 ก.ย. 2556 มียอดจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติทั้งสิ้น 1,678,535 ฉบับ โดยเป็นกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 1,405,632 ฉบับ ทุนประกันภัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ จำนวน 87,694 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ จำนวน 47,403 ล้านบาท
ทั้งนี้บ้านอยู่อาศัยเป็นกลุ่มที่มีกรมธรรม์สูงสุดจำนวน 1,338,421 ฉบับ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 94 กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 63,105 ฉบับคิดเป็นร้อยละ 5 และกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 4,106 ฉบับคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1
นอกจากนั้น กลุ่มบ้านอยู่อาศัยยังมีจำนวนทุนประกันต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ สูงสุดมูลค่า 30,627 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 รองลงมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมมูลค่า 9,530 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 และกลุ่ม SMEs มีมูลค่า 7,246 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ขณะที่เบี้ยประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 549 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมจำนวน 222 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 กลุ่มบ้านอยู่อาศัยจำนวน 221 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 40 และกลุ่ม SMEs จำนวน 106 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20
ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยจำนวน 8 แห่ง เสนออัตราเบี้ยประกันต่ำกว่ากองทุนฯ ร้อยละ 20 เพื่อรับประกันภัยพิบัติไว้เองโดยไม่ส่งต่อให้กองทุนฯ คิดเป็นมูลค่าทุนประกันภัยพิบัติทั้งสิ้น 2,804,859 ล้านบาท สะท้อนว่าผู้รับประกันภัยต่อมองความเสี่ยงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยมีน้อยลงและมีความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยไทยมากขึ้น