ทั้งนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน กกพ. (นายประเทศ ศรีชมภู) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ว่า กฟภ. จะดำเนินการใน 2 ลักษณะ คือ “ในรายที่มีการส่งใบแจ้งหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระค่าไฟฟ้าแล้ว การไฟฟ้าในพื้นที่จะพิจารณาผ่อนผันระยะเวลาเบื้องต้นตามใบแจ้งหนี้ดังกล่าวออกไปได้อีกสูงสุดได้ถึง 31 วัน (ตามสภาพพื้นที่นั้นๆ) โดยหลังจากนั้นหากผู้ใช้ไฟฟ้ายังไม่สะดวกในการไปชำระค่าไฟฟ้าอันเนื่องมาจากการนี้ ก็สามารถร้องขอผ่อนผันออกไปได้อีก 15 วัน ส่วนรายที่ไม่สามารถเข้าไปจดหน่วยไฟฟ้าได้ในช่วงน้ำท่วม ก็ให้ผ่อนผันกำหนดเวลาการชำระค่าไฟฟ้าในรอบเดือนนั้นออกไปจนกว่าจะสามารถเข้าไปจดหน่วยได้ในเดือนถัดไป และก็จะได้รับการขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าได้สูงสุดอีกไม่เกิน 31 วัน” นายประเทศ กล่าว
และตามหลักเกณฑ์นี้ หากระยะเวลาจดหน่วยดังกล่าวเกินกว่า 2 เดือน ก็จะมีการออกใบแจ้งหนี้โดยเฉลี่ยค่าไฟฟ้าออกเป็นรายเดือนตามจำนวนหน่วยที่ใช้จริง และหากพบว่ามีการใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 50 หน่วยต่อเดือน ผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะได้รับสิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน
นอกจากนี้ กฟภ. ยังพิจารณามาตรการด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ในเรื่องการขยับมิเตอร์ให้พ้นจากระดับน้ำ โดยจะขยับสูงถึง 2.30 - 2.70 เมตร เพื่อให้เกิดความปลอดภัย รวมทั้งจะมีการตัดกระแสไฟฟ้าหากระดับน้ำในพื้นที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น จนทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน สำหรับประชาชนที่ต้องการแจ้งเหตุหรือรับบริการช่วยเหลือในการตัดกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วม สามารถแจ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ 1129 โดย กฟภ. ได้เตรียมพร้อมที่จะให้บริการตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่น้ำท่วมดังกล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
โทร.02-207-3599