งานมหกรรมอาเซียนสัญจร 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิด การเรียนรู้และต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพ ด้านภาษาอังกฤษในทุกทักษะ ส่งเสริมบทบาทเด็กและเยาวชนในเวทีระดับนานาชาติ อันจะนำไปสู่การมีบทบาทนำและการเป็นประชากรอาเซียนที่มีคุณภาพ รวมทั้งเพื่อให้สถานศึกษาได้นำรูปแบบกิจกรรมการสร้างความตระหนักรู้เรื่องอาเซียนไปปรับใช้ในสถานศึกษา ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่ การจัด Workshop และการแข่งขันพูดภาษาอังกฤษในที่ชุมชน การจัด Workshop และการแข่งขันการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ การแข่งขันสะกดคำภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งการจัดสถานีกิจกรรมฐานความรู้สู่ประชาคมอาเซียน ผ่าน 5 สถานีกิจกรรม ได้แก่ (1) สถานี Knowing ASEAN (2) สถานี Food and Currency in ASEAN (3) สถานี Mobility in ASEAN (4) สถานDo you Know AC? และ (5) สถานี ASEAN Community: We are ready! และได้ดำเนินการแล้ว ใน 4 ภูมิภาค คือ ครั้งที่ 1 ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ที่กรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 3 ภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 4 ภาคเหนือ ที่จังหวัดลำปาง โดยได้คัดเลือกนักเรียนจากทุกภูมิภาค เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันทักษะภาษาอังกฤษรอบชิงชนะเลิศ จำนวน 308 คน จาก 79 โรงเรียน
ในการจัดมหกรรมฯ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 เพื่อเฟ้นหาผู้มีความสามารถด้านทักษะภาษาอังกฤษที่เป็นเลิศใน 3 ลำดับ ทั้งนี้ นักเรียนที่ชนะเลิศในทุกประเภทของการแข่งขัน จะได้รับทุนฝึกอบรมภาษาอังกฤษระยะสั้น ณ สหราชอาณาจักร จำนวน 4 รางวัล นักเรียนที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับทุนศึกษาดูงานด้านวิชาการและวัฒนธรรมที่ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 4 รางวัล และนักเรียนที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับรางวัล Mini iPad จำนวน 4 รางวัล
หลังจากจบโครงการนี้ไปแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นนักเรียนไทยมีการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาต่างประเทศให้มีความพร้อมมากขึ้นและทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยใช้กระแส ความตื่นตัวในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นให้มากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวกับอาเซียนและประชาคมอาเซียน การศึกษาผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ และเร่งผลักดันให้มีการพัฒนาเยาวชน บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อความต้องการตลาดแรงงาน รวมทั้งสามารถแข่งขันได้ในเวทีภูมิภาคและโลก