สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก) รณรงค์ร่วมลดอัตราการเกิดตาบอดในเด็กไทย เนื่องในวันสายตาโลก

พฤหัส ๑๐ ตุลาคม ๒๐๑๓ ๑๘:๒๐
สภาวะตาบอดและสายตาเลือนรางรวมทั้งโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขเป็นข้อมูลที่จำเป็นและมีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพตา เพื่อนำไปกำหนดนโยบายและจัดกิจกรรมต่างๆ ในการที่จะแก้ปัญหาตาบอดและสายตาพิการให้ตรงกับข้อเท็จจริงตามสภาวะสาธารณสุขในปัจจุบัน ตลอดจนการจัดบริการทางตาให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลและส่งเสริมสุขภาพประชาชน ให้มีสุขภาพดีถ้วนหน้า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีคณะทำงานโครงการส่งเสริมสุขภาพตา กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดทำโครงการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยระบาดวิทยาของโรคตา โดยเฉพาะในเรื่องของตาบอด สายตาเลือนราง และโรคตาที่เป็นสาเหตุสำคัญและเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติมาแล้ว 4 ครั้ง

จากการสำรวจสภาวะตาบอด ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2549-2550พบว่าประชากรไทยมีความชุกของตาบอดร้อยละ 0.59และสายตาเลือนรางร้อยละ 1.57 และโรคที่เป็นสาเหตุของตาบอดในประชากรไทยที่สำคัญ 5 โรคได้แก่

1. โรคต้อกระจก เป็นสาเหตุของตาบอดสูงถึงร้อยละ 51

2. โรคต้อหิน เป็นสาเหตุของตาบอดร้อยละ9.8

3. โรคของจอตา เป็นสาเหตุของตาบอดร้อยละ9

4. โรคที่ทำให้ตาบอดในเด็ก เป็นสาเหตุของตาบอดร้อยละ 5.7

5. โรคของกระจกตา เป็นสาเหตุของตาบอดร้อยละ 5

องค์การอนามัยโลกและ International Agency for Prevention of Blindness กำหนดให้วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวัน World Sight Day หรือ วันสายตาโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาตาบอด สายตาพิการ และการฟื้นฟูสภาพสายตาสำหรับในปีนี้วัน World Sight Day หรือ วันสายตาโลก ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม 2556 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก)กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ “โครงการลดอัตราการเกิดตาบอดในเด็กไทย”ซึ่งเป็นสาเหตุของตาบอดในประชากรไทยอันดับ 4

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในพิธีแถลงข่าวการรณรงค์ ร่วมลดอัตราการเกิดตาบอดในเด็กไทย ณ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีว่า“จากการสำรวจสภาวะตาบอด สายตาเลือนราง และโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทย ครั้งที่4 ปี พ.ศ.2549-2550พบว่าประชากรไทยมีความชุกของตาบอดร้อยละ 0.59และสายตาเลือนรางร้อยละ 1.57 และโรคที่เป็นสาเหตุของตาบอดในประชากรไทยที่สำคัญ 5 โรคได้แก่โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคของจอตา โรคที่ทำให้ตาบอดในเด็ก และโรคของกระจกตา

กรมการแพทย์ ในฐานะที่กำกับดูแลศูนย์ความเป็นเลิศสาขาจักษุวิทยา ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาระดับชาติดังกล่าว ได้จัดทำแผนพัฒนาเขตบริการสุขภาพ [Service Plan] สาขาจักษุวิทยา ภายใต้นโยบาย “การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนไทย” ของ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์) มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสภาวะตาบอดและสายตาเลือนรางของประชากร ตามกรอบแนวคิด Vision2020 ขององค์การอนามัยโลก โดยมีแผนพัฒนาต่อเนื่องไปอีก 5 ปี”

นพ. สรศักดิ์ โล่ห์จินดารัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีกรมการแพทย์กล่าวเสริมว่า

“ข้อมูลจากรายงานวิจัยเรื่องการสำรวจสภาวะตาบอด ตาเลือนรางและโรคตา ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในเด็ก อายุ 1-14 ปี พ.ศ. 2549-2550 ของประเทศไทย พบว่า อัตราความชุก ของสภาวะตาบอดในเด็กไทยเท่ากับร้อยละ 0.11 เป็นอัตราที่สูงกว่า การประมาณการขององค์การอนามัยโรคในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 0.07 ซึ่งองค์การอนามัยโลก ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2563 อัตราตาบอดของเด็กในทุกประเทศไม่ควรเกิน ร้อยละ0.04 (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก VISION 2020 action plan 2006-2010) โดยพบว่าสาเหตุของสภาวะตาบอดในเด็กไทย เกิดจากโรคที่จอตาในทารกคลอดก่อนกำหนดถึงร้อยละ 66.66 และเกิดจากภาวะตามัวที่เกิดจากภาวะสายตาผิดปกติ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ร้อยละ33.33 ดังนั้น การที่จะลดอัตราความชุกของสภาวะตาบอดในเด็กไทยได้ ต้องมุ่งเน้น การควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญ คือ โรคจอตาในทารกคลอดก่อนกำหนด และสภาวะสายตาผิดปกติ ที่ไม่รับการแก้ไข

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ มีบทบาทและหน้าที่ในการดูแลสุขภาพเด็กไทยทั่วประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาตาบอดในเด็ก เพราะเมื่อเด็กตาบอดจะเกิดผลกระทบต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิต ทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพในอนาคต ดังนั้น การป้องกันและแก้ไขเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องรีบดำเนินการเพื่อลดจำนวนประชากรเด็กที่ตาบอดในอนาคต

กิจกรรมในวันนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของ “โครงการลดอัตราตาบอดในเด็กไทย: Better Sight for Child” โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กที่มีปัญหาสภาวะสายตาที่ผิดปกติ ให้ได้รับการวินิจฉัยจาก จักษุแพทย์ และได้รับการแก้ไขให้ได้รับแว่นตาอันแรกที่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จาก บริษัทเอสซีลอร์ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคมโดยบริษัทฯ เองมีมูลนิธิเอสซีลอร์วิชั่นฟาวด์เดชั่น(Essilor Vision Foundation) ที่ให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตามาโดยตลอด

พญ.ขวัญใจ วงศกิตติรักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานจักษุวิทยาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติในเด็กว่า การวินิจฉัยและรักษาภาวะสายตาผิดปกติไม่ยุ่งยาก แต่การเข้าถึงกลุ่มเด็กยังเป็นปัญหาเนื่องจากขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์ที่จะทำหน้าที่คัดกรองหาเด็กที่มีปัญหา และส่งต่อสถานพยาบาลเพื่อรับการตรวจและวัดสายตา ประกอบแว่นที่ได้มาตรฐาน

ในขณะที่การวัดสายตาในเด็กแตกต่างจากการวัดสายตาในผู้ใหญ่ จำเป็นต้องใช้การหยอดยาเพื่อลดการเพ่งของตาเด็กและการประกอบแว่นตาให้เด็กต้องการความถูกต้อง แม่นยำ เพราะเด็กจะไม่สามารถบอกได้ว่าแว่นตาดีหรือไม่ดีการใส่แว่นที่ไม่ถูกต้องตรงตามสายตาเด็ก หรือระยะต่างๆในการประกอบแว่นไม่ถูกต้อง จะส่งผลเสียต่อสายตาเด็ก

จากเหตุผลดังกล่าวจึงต้องมีการพัฒนาระบบบริการร่วมกันระหว่างโรงเรียนและสถานพยาบาลเพื่อให้มีการตรวจคัดกรองเด็กเบื้องต้นโดยครูที่ได้รับการฝึกอบรม และส่งต่อเด็กที่คัดกรองพบความผิดปกติไปยังสถานพยาบาล และพัฒนาให้มีการบริการตรวจวัดสายตาและประกอบแว่นในหน่วยบริการ ซึ่งกลุ่มงานจักษุวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีมีหลักสูตร “การวัดแว่นตาในเด็ก” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับจักษุแพทย์ พยาบาลเวชปฏิบัติทางจักษุ และนักทัศนมาตรที่สนใจเข้ารับการอบรม ระยะเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มบริการตรวจวัดสายตาในเด็ก ให้กระจายไปทั่วประเทศ

“กรณีตัวอย่างผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการส่งต่อเข้ารับการรักษาทางด้านสายตาได้อย่างทันกาลก่อนจะสายตาบอดในที่สุดเด็กชายกันต์อเนก บุตรคำ ถูกส่งตัวเข้ารับการตรวจรักษาที่รพ.เด็ก ตั้งแต่อายุ4 ปี ผู้ปกครองพามาตรวจที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีครั้งแรกเมื่ออายุ 4 ปี 11 เดือน โดยให้ประวัติว่าเด็กชอบดูโทรทัศน์ใกล้ๆตั้งแต่อายุ 2 ปี แต่ไม่ได้พาไปตรวจ แต่เพราะครูสังเกตว่าเวลาเรียนน้องต้องเพ่งมองใกล้ ครูให้พ่อแม่พาให้ตรวจ หมอทำการตรวจพบว่าสายตาสั้นมาก ข้างขวา 5.50 ในขณะที่ข้างซ้ายสั้นถึง12 Diopter(หน่วยการวัดสายตา) ยิ่งไปกว่านั้นเด็กมีภาวะตาขี้เกียจแล้ว การมองเห็นได้เพียง 30เปอร์เซ็นต์ของที่ควรจะเป็น เพราะไม่ได้รับการรักษาประกอบแว่น ปัจจุบันน้องอายุ 7 ปี ระดับการมองเห็นได้มาถึง 90เปอร์เซ็นต์ หลังจากการรักษาด้วยแว่นตาและการกระตุ้นสายตา ที่สถาบันฯ

ด.ญ.ชุติมา คงสถาน เป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด มารับการรักษาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด ตั้งแต่อายุ1 เดือน ได้รับการรักษาเรื่องจอตาในทารกคลอดก่อนกำหนด จนหายดี เมื่ออายุ 1 ขวบ หลังจากนั้นมีการตรวจติดตามสายตา พบว่า ตอนอายุ 4 ขวบ มีภาวะสายตาสั้นมาก ข้างขวา 8.00 Diopter ข้างซ้าย 7.50Diopter การมองเห็นเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นมีการรักษาด้วยการวัดสายตาประกอบแว่น และกระตุ้นสายตา ปัจจุบันน้องอายุ 7 ปี ระดับการมองเห็นถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ในแง่การสนับสนุนของภาคเอกชน นายทฤษฎี ตุลยอนุกิจ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และภาคพื้นอินโดจีน บริษัท เอสซีลอร์ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า

“ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กตาบอดเนื่องจากสาเหตุต่างๆดังที่คุณหมอได้กล่าวไปข้างต้น บริษัท เอสซีลอร์ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ให้การสนับสนุนกิจกรรม Better Sight for Child ในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคม โดยทางบริษัทฯ เองก็มีมูลนิธิ เอสซีลอร์วิชั่นฟาวด์เดชั่น (Essilor Vision Foundation) ที่ให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตามาโดยตลอด และในการสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ เราได้มอบเลนส์แว่นตา จำนวน 4,000 คู่ รวมมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท เพื่อร่วมรณรงค์ลดอัตราการตาบอดในเด็กไทย นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำเสื้อยืด

คอลเลคชั่นพิเศษ ออกแบบโดยนักวาดภาพประกอบ ไผ่แก้ว อินสว่าง เพื่อจำหน่ายและนำรายได้ทั้งหมดมอบให้กับโครงการฯ นำไปช่วยเหลือเด็กๆ หาซื้อได้ที่โรงพยาบาลเด็ก หรือร่วมสมทบทุนโดยการบริจาคผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้ ช่องทางที่ 1 โอนเข้าบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ธนาคารออมสิน สาขาชัยสมรภูมิ เลขที่ 02-8888-99999-3 ช่องทางที่ 2 บริจาคผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยการแจ้งรหัสบริจาค มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก หรือผ่านตู้เอทีเอ็ม ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ ทุกสาขาทั้งนี้เราต้องการความช่วยเหลือและกำลังใจจากคนไทยทุกคนมาช่วยกันป้องกันเด็กให้รอดจากการตาบอด

การมองเห็นชัดเจนขึ้นย่อมทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ปัญหาการมองเห็นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ดังนั้นการตรวจสายตาเป็นประจำจึงมีความสำคัญ การดูแลสายตาที่ดีจะนำไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้นโดยรวม สำหรับการตรวจสายตาเด็กอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญเพราะร้อยละ 80 ของสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จนอายุ 12 ปีจะต้องอาศัยสายตา ทั้งนี้ พบว่าจำนวน 7 ใน 10 ของเด็กวัยเรียนที่มีปัญหาการอ่าน มีความบกพร่องทางสายตา ส่วนในวัยรุ่น ความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างปัญหาการมองเห็นที่ไม่แสดงอาการ

ข้อจำกัดการอ่านและการเรียนรู้ ปัญหาในโรงเรียนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่การเรียนรู้ แต่ยังรวมถึงภาพลักษณ์ของหนุ่มสาว ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาตลอดชีวิต

เด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติและไม่ได้รับการแก้ไขจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อการศึกษาและโอกาสในการทำงานในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และคนในสังคมด้วยเช่นกันถึงเวลาแล้ว ที่ทุกคนมาร่วมกันรณรงค์ร่วมลดอัตราการเกิดตาบอดในเด็กไทย ด้วยการคัดกรองสังเกตพฤติกรรมของเด็กเล็ก ซึ่งครู ผู้ดูแลเด็ก และผู้ปกครองสามารถทำได้เองเบื้องต้นได้อย่างง่าย ก่อนที่อนาคตของเด็กน้อยที่เป็นกำลังของชาติจะดับมืดลง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version