นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2554 ขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างโครงการ โดยงานออกแบบทางวิศวกรรม การจัดซื้ออุปกรณ์หลักของโรงไฟฟ้า รวมทั้งงานก่อสร้างฐานรากและสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โครงการฯ มีแผนจะทดลองระบบเครื่องสับไม้ประมาณเดือนมิถุนายน 2557และ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จจนสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ราวเดือนตุลาคม 2557
นายพงษ์ดิษฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนากำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนเป็น 500 เมกะวัตต์ โดยมุ่งเน้นที่พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้พยายามแสวงหาการลงทุนโครงการพลังงานชีวมวลภายในประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเพราะปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีมากเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าได้อีกมาก ขณะนี้บริษัทฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลงทุนพัฒนาพลังงานชีวมวลอีกหลายโครงการในอนาคต”
โครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลสงขลา กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีมูลค่าโครงการประมาณ 800 ล้านบาท พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิง ฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรัฐบาลมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลในปี 2564 เท่ากับ3,630 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล 1,790 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ชุมชนยังได้รับประโยชน์จากการจ้างงานและการจำหน่ายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาทตลอดอายุโครงการ อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 37,500 ตันต่อปี
โครงการนี้ดำเนินการโดยบริษัท สงขลาไบโอแมส จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 40 บริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด ร้อยละ 40 และ สหกรณ์ออมทรัพย์อัศศิดดีก จำกัด ร้อยละ 20 โครงการนี้ใช้ปีกไม้และรากไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าประมาณ 300-370 ตันต่อวัน ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้กับกฟภ.ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากระยะเวลา 25 ปี และได้รับอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มจำนวน 1.30 บาทต่อหน่วยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.)เป็นเวลา 7 ปี