นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ทั่วประเทศ พบว่าค่าเฉลี่ยของอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในดินต่ำกว่า 1% ซึ่งที่จริงสัดส่วนของดินที่ดีควรจะมีอินทรียวัตถุประมาณ 5 % จึงจะถือว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ซึ่งดินที่ขาดแคลนอินทรียวัตถุ ดินปัญหาต่าง ๆ หรือดินที่เสื่อมโทรม รวมทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ อย่างผิดหลักวิชาการ หรือไม่ถูกวิธีการ จะทำให้สิ่งที่มีชีวิตในดินและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินตายหมด
"ขอแนะนำเกษตรกรว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมอินทรียวัตถุลงในดิน ด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ หรือการใช้พืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดิน โดยปลูกพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า และอื่น ๆ แล้วไถกลบลงในดินเป็นเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้อย่างดี เพราะปมรากพืชตระกูลถั่วสามารถดูดตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศลงสู่ดิน และเป็นการช่วยฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในดินอย่างจุลินทรีย์ให้สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารในดิน นอกจากนี้ใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมบนดินถ้ามีการไถกลบก็จะเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุได้เช่นกัน เมื่อดินเริ่มมีสิ่งมีชีวิต ดินก็จะเริ่มมีชีวิต คืนความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ เมื่อเกษตรกรทำการปลูกต้นไม้จำพวกไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจโตเร็วหรือโตช้า ไม้ผลต่าง ๆ ที่มีระบบรากแก้วแท้ก็จะช่วยยึดดิน สอดคล้องกับภาวะโลกร้อนที่เราต้องการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปเก็บไว้รูปของแข็งคือเนื้อไม้และเก็บลงในดินด้วย" อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว
นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เกษตรกรทุกคนต้องปฏิบัติและสามารทำได้เอง โดยกรมพัฒนาที่ดินมีข้าราชการเจ้าหน้าที่ นักวิชาการต่าง ๆ ตลอดจนหมอดินอาสาที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรม คอยบริการให้คำแนะนำปรึกษาตลอดเวลา และให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามความเหมาะสม ฟรี! ได้แก่ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ปลูกเพื่อบำรุงดิน พันธุ์กล้าหญ้าแฝก ปลูกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่งซุปเปอร์ พด. ชนิดต่าง ๆ พร้อมคำแนะทางวิชาการในการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อทำให้พื้นที่ทำการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชได้ปริมาณผลผลิตที่ดี มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนก็นำไปขายทำให้มีเศรษฐกิจครัวเรือนที่ดีขึ้น เศรษฐกิจชุมชนก็ดีขึ้น เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศก็ดีขึ้น และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านที่สนใจ วิธีการปรับปรุงบำรุงดิน การเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน หรือการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่ง พด. ชนิดต่าง ๆ หรือต้องการคำแนะนำทางด้านวิชาการพัฒนาที่ดิน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดินแห่งใกล้บ้าน หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชนที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่ หรือโทรสายด่วน 1760 กรมพัฒนาที่ดิน.