นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างการร่วมขบวนรณรงค์ “โครงการตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย” ที่ตลาดนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย “ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย” ซึ่งจะต้องมีการรณรงค์ให้ครอบคลุมถึง “ตลาดสด น่าซื้อ” เหมือนสมัยก่อนโดยการดำเนินงานตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย จะคำนึงถึงหลักโภชนาการที่เน้นให้ผู้ประกอบการใส่ใจในการปรุงประกอบอาหาร เริ่มตั้งแต่อุปกรณ์ วัสดุที่นำมาใช้ปรุงประกอบอาหารให้กับผู้บริโภค ซึ่งคำว่า “ตลาดสะอาด” คือบริเวณโดยรอบ สภาพแวดล้อมตลาดต้องสะอาด ให้เป็นตลาดที่น่าเดิน คนซื้อไม่ต้องระมัดระวังในเรื่องพื้นที่เปียกหรือสกปรก ส่วนเรื่อง “อาหารปลอดภัย” จะเป็นอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและถูกหลักอนามัย ซึ่งถูกหลักโภชนาการคือต้องเป็นเรื่องอาหารครบ 5 หมู่ ส่วนถูกหลักอนามัยคืออาหารที่สะอาด ไม่มีสิ่งเจือปน ไม่มียาฆ่าแมลงในพืชผัก ผลไม้ต่างๆ นี่คือที่มาของคำว่าตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย
ในพื้นที่กรุงเทพมหานครการรณรงค์ “โครงการตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย” เริ่มที่ตลาดนางเลิ้งเป็นตลาดแรก และจะมีการรณรงค์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตลาดนัดที่ขณะนี้พบว่าเป็นปัญหามากที่สุด เพราะไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าของตลาดในการดูแลจัดระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดโซนนิ่งอาหาร เช่น ร้านขายอาหารสดไม่ควรอยู่ใกล้ร้านขายเสื้อผ้า เพราะจะดูไม่เหมาะสม รวมถึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้วย ขณะนี้ได้เริ่มลงพื้นที่จังหวัดต่างๆในการขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ เจ้าของตลาด เพื่อช่วยกันในการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว
ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าโครงการรณรงค์ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค เป็นการดำเนินงานที่ต่อยอดมาจากโครงการตลาดสดน่าซื้อ ทั้งนี้เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกิดความครอบคลุมมากขึ้นไม่เฉพาะแค่ตลาดสดเท่านั้น โดยการดำเนินการโครงการครั้งนี้ตลาดต้องปลอดภัยจากสารปนเปื้อนใน 6 ชนิด ได้แก่ ปลอดยาฆ่าแมลง ปลอดสารเร่งเนื้อแดง ปลอดสารกันเชื้อราที่เกินมาตรฐานกำหนด ปลอดสารฟอกขาวที่ใช้สำหรับใส่ในถั่วงอกสารที่ทำให้ขาวมากๆ ปลอดฟอร์มาลีนที่ใช้ในการแช่ล้างผักให้สดสะอาด และปลอดสารบอแรกซ์ เพราะสารดังกล่าวเป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดโรคภัยต่อร่างกายไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคทางเดินอาหาร และโรคทางเดินหายใจ รวมถึงเข้าไปทำลายระบบสมองด้วย หากปลอดสารดังที่กล่าวมาจะทำให้อาหารปลอดภัย โดยโครงการนี้ได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ร่วมกับการประเมินตลาดที่เข้าร่วมโครงการซึ่งมีทั้งหมด 1,500 แห่ง ซึ่งผ่านเกณฑ์ประเมินแล้วบางส่วนประมาณร้อยละ 80
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังช่วยในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยสามารถสังเกตตลาดที่เข้าร่วมโครงการ หากตลาดผ่านเกณฑ์ในระดับดี เปลี่ยนเป็นระดับดีมาก จะมีมุมบริการตรวจสอบสินค้าไว้สำหรับผู้บริโภคเพื่อตรวจสอบสินค้าที่ซื้อมาว่าปลอดภัยหรือไม่ เช่น หากผู้บริโภคจะซื้อผักสัก 1 อย่าง สามารถนำผักมาทดสอบได้ด้วยตนเอง เพื่อตรวจสอบดูว่าผักที่ซื้อมามีสารใน 6 ชนิดที่กล่าวหรือไม่ หากตรวจพบสารดังกล่าวตลาดที่เข้าร่วมโครงการจะถูกถอดออกจากโครงการและถูกถอดออกจากตรา ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค เช่นเดียวกัน
อธิบดีกรมอนามัย ยังกล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการ “ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” นั้นเริ่มต้นที่ตลาดต้องสะอาด โดยอันดับแรกจะต้องผ่านเกณฑ์ระดับดีก่อน จากนั้นมาถึงเรื่องอาหารปลอดภัยคือต้องมีการตรวจหาสารทั้ง 6 ชนิดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ส่วนใส่ใจผู้บริโภคคือปลอดภัยจากสารปนเปื้อนทั้ง 6 ชนิดในระดับดีเยี่ยมหรือดี ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะต้องร่วมมือกันทั้งกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือเทศบาลที่มีส่วนในการประเมินตลาด เพื่อทำให้ตลาดที่เข้าร่วมโครงการสามารถสู้กับตลาดนัดและตลาดติดแอร์ได้ และกลายเป็นแหล่งที่มีประชาชนหลั่งไหลมาซื้ออาหารมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดสดที่ความสะอาด ปลอดภัยและมีการคุ้มครองผู้บริโภค
“จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการตลาดสดทั้งที่เป็นเทศบาลและเอกชน เข้าร่วมโครงการ“ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมอนามัย โทร 02 590 4000 จะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับโครงการตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” อธิบดีกรมอนามัยกล่าวปิดท้าย