สืบเนื่องจากแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) ได้กำหนดให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในแผนภารกิจ ด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ กลุ่มภารกิจด้านน้ำบาดาล ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 5 ภารกิจ ได้แก่ 1) การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 2) การพัฒนาเป่าล้างบ่อน้ำบาดาลเดิม 3) การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำแบบบ่อลึก 4) การเก็บค่าใช้น้ำบาดาล และ 5) การอนุญาตขุดเจาะน้ำบาดาล และ มอบอำนาจการอนุญาตใช้น้ำบาดาล ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2552 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ศึกษารูปแบบและนำร่องการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำรูปแบบที่เหมาะสมมาปฏิบัติกับพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเชียงใหม่ ผลที่ได้จากการศึกษาชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาลไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งกรมทรัพยากร น้ำบาดาลจะต้องปรับปรุงและพัฒนาระบบและแผนปฏิบัติงานด้านน้ำบาดาลของรัฐและท้องถิ่น ให้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน พัฒนาระบบการเงินและระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาลไปสู่ท้องถิ่น รวมถึงพัฒนากระบวนการถ่ายทอดด้านข้อมูลวิชาการและข้อมูลด้าน การประกอบกิจการน้ำบาดาล
ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้จัดทำ“โครงการเตรียมความพร้อม และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการภารกิจด้านน้ำบาดาล เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพื่อสนับสนุนกระบวนการถ่ายทอดความรู้และข้อมูลทางอุทกธรณีวิทยาและการบริหารจัดการน้ำบาดาล ขั้นตอนการอนุญาตเจาะและใช้น้ำบาดาล กระบวนการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ ลดความผิดพลาดของข้อมูลจากระบบงานเอกสาร และการติดต่อประสานงาน ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องแม่นยำ
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้การปฎิบัติงานร่วมกันระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขตทั้ง 12 เขต สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ มีความถูกต้องเป็นไป ตามมาตรฐานและตามหลักเกณฑ์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดไว้ ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่ง น้ำบาดาลของท้องถิ่นได้อย่างเท่าเทียมกัน มีความเป็นธรรมและเสมอภาคของการจัดสรรทรัพยากรน้ำบาดาล ในท้องถิ่น โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้ใช้บริการ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการใน 3 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นจะนำผลที่ได้จากการดำเนินงานมาเป็นต้นแบบที่เหมาะสม และขยายผลการดำเนินงาน กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า การประชุมสัมมนาเพื่อนำเสนอภาพรวม ของโครงการในวันนี้ จะทำให้ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีความเข้าใจ กระบวนการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาล บทบาท อำนาจและหน้าที่ของพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ การให้บริการประชาชนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินภารกิจน้ำบาดาลเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำบาดาล เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการบูรณาการความร่วมมือและการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ