ดร. วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เปิดเผยว่า การก้าวล้ำหน้าของเทคโนโลยีระบบดิจิตอลออนไลน์ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจต่างๆ อย่างมากมายต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่า “พลิกโฉมหน้า” เจ้าขององค์กร นักธุรกิจ นักการตลาด นักวิศวกร ต่างรับรู้และเร่งปรับองค์กรให้ทันและเหนือกว่าคู่แข่งขันในตลาด ขณะเดียวกันเกิดการสร้างธุรกิจ SMEs ในรูปแบบใหม่ขึ้นตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในการอบรมหลักสูตรนักบริหาร SMEs ระดับสูง “ SMEs Advance” ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ SMEs ของ สสว. จึงเชิญ นายอรรถ อรุณรัตนพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ดูแลด้านธุรกิจ True Life มาแบ่งปันความรู้เรื่อง Digital Marketing for Business เมื่อเร็วๆนี้
นายอรรถกล่าวว่า เครือข่ายโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงเป็นระบบ 3 G ทำให้การรับรู้ข้อมูลในมือถือรวดเร็วขึ้น เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการทุกรายจึงต้องเร่งหากลยุทธ์การทำตลาดบนการสื่อสารออนไลน์ที่กำลังทำให้ธุรกิจต่างๆ ในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ตัวอย่าง เช่น ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ(Mobile)มีแนวโน้มมาแรงมาก จากตัวเลขที่เก็บได้ปรากฏว่าประชากรไทย 5 ล้านคนมีมือถือใช้คนละถึง 2 เครื่อง โดย 27 % ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อการทำกิจกรรมต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต และ สัดส่วน 36 % เป็นสมาร์ทโฟน และสำรวจล่าสุดแนวโน้มพบว่าคนดูทีวี เฉลี่ย 10 ชม.ต่อวัน ซึ่งลดลง เมื่อเทียบกับการดูอินเตอร์เน็ตคอนเทนท์ในมือถือถึง 16 ชม.ต่อวัน
ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวด้วยว่าธุรกิจจำนวนมาก หันมาทำกลยุทธ์ทางการตลาดบนสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบ ทำให้พฤติกรรมการสื่อสารบน Social Media ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากมายจนทำให้ผู้บริโภคเชื่อโดยไม่มีการพิจารณา ข่าวสารมีทั้งอันตรายทางสังคมที่แฝงมา และการใช้สื่อออนไลน์เป็นการสร้างความผูกพันที่ไม่ใช่แค่การเป็นตัวกลางระหว่างลูกค้าและเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือองค์กร แต่ต่อไปจะเกิดเป็นสังคมที่บูรณาการ(Integrated Social) มากขึ้น
การทำอีคอมเมิร์ช จะขยายไปสู่การเป็น เอ็มคอมเมิร์ช โดยมีการทำธุรกรรมทางการเงินบนสื่อออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ ทำให้การซื้อขายสินค้าทำได้สะดวกสบายขึ้น มีการเปรียบเทียบราคาสินค้าได้ง่ายขึ้น กลายเป็น Social Commerce และต่อไปในปี 2557-2558 จะพัฒนาขึ้นสู่การเป็น Mobile Commerce
สำหรับธุรกิจ SMEs ขอแนะนำว่า หากยังไม่ได้ทำการค้าขายแบบอีคอมเมอร์ซ ก็ควรเริ่มทำ Social Commerce ไปก่อน เพราะนับเป็นการลงทุนที่ใช้เงินทุนไม่มาก เมื่อเทียบกับการต้องไปเช่าตึกแถวลงทุนเปิดธุรกิจทำการค้า หรือใช้ Provider หรือเข้าไปใช้แพลทฟอร์มของคนอื่นในระยะเริ่มต้นไปก่อน
สสว. ยังเชิญ นางณัฐพร ปิ่นเพ็ชร เจ้าของกิจการธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าเด็ก ยี่ห้อ “Minitiger” ซึ่งเป็นแบรนด์เนมของไทยที่ไปโด่งดังในประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาร่วม แบ่งปันประสบการณ์ โดยนางณัฐพร ได้กล่าวถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างด้วยว่า ตนเองเคยทำงานเป็น ครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ ของบริษัทโฆษณาต่อมาเมื่อมีครอบครัวและมีลูก จึงเริ่มมองหาธุรกิจที่เป็นของตัวเอง และได้ตั้งต้นด้วยการทำเสื้อตัวแรกให้กับลูก ทำเสร็จแล้วแต่ใส่ไม่ได้ จึงเกิดความรู้สึกกระหายที่จะเรียนรู้และต้องทำให้สำเร็จ ด้วยการเข้าศึกษาวิธีการทำด้วยตนเองโดยการเปิดยูทูป บนพื้นฐานความคิดที่ว่า จะต้องสำรวจตัวเองอย่างละเอียดซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้พบความชอบอย่างแท้จริง สำรวจพฤติกรรมของลูกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเกิดความชำนาญ จากนั้นได้ทดลองผลิตจนเป็นเสื้อผ้าได้สำเร็จตามที่ต้องการเพื่อลูก
“การทดลองทำครั้งนั้นได้เกิดเป็นความดิดของการเริ่มต้นทำธุรกิจ ว่าทำอย่างไรให้ใช้เงินน้อยที่สุด แต่ให้ได้ความแตกต่างมากที่สุด และมาได้ข้อสรุปว่า จะใช้ Social Media ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ พร้อมด้วยการออกงานแฟร์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จนสินค้าเป็นที่ต้องการของต่างชาติ ทำให้ แบรนด์ “Minitiger” ติดตลาดมาจะอายุครบ 3 ปีในเดือนพฤศจิกายนนี้ ขณะนี้กำลังจะต่อยอดเปิดเพิ่มเป็น แบรนด์ใหม่ ชื่อ“มินิไทยกล้า” เพื่อเปิดตลาดให้กับคนไทยในประเทศโดยเฉพาะ”
นางณัฐพร ปิ่นเพ็ชร กล่าวเสริมอีกว่า เสื้อผ้าเด็ก ในแบรนด์ มินิไทยกล้า จะเป็นหนึ่งในไลน์สินค้าที่เชื่อมโยงให้เกิดเป็นสังคมเป็นชุมชนและสร้างกิจกรรมขึ้นในระหว่างกลุ่มคนไทยด้วยกัน โดยหวังให้เกิดการต่อยอดสิ่งต่างๆขึ้น “โดยเราจะสร้างเป็นคอมมูนิตี้ทั้งหมด 6 ฮับตามหัวเมืองของไทย อย่างฮับในภาคใต้ มินิไทยกล้าป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับไทยพุทธและไทยมุสลิม ”