‘ไฟเซอร์’ จัดเสวนา “รู้ทัน ป้องกันโรคปอดบวม” เฝ้าระวังผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง

พฤหัส ๐๗ พฤศจิกายน ๒๐๑๓ ๐๙:๓๖
สถิติกรมควบคุมโรคระบุ พบผู้ป่วยปอดบวมเกือบ 1 แสนราย ในไทยช่วงมกราคม ถึง สิงหาคม 2556 เผยผู้ใหญ่วัยเก๋า 65 ปีขึ้นไปป่วยมากที่สุด1

กลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง มีโอกาส ติด “เชื้อนิวโมคอคคัส” สาเหตุหลักของโรคปอดบวมเพิ่มขึ้นกว่าบุคคลทั่วไป2

คนดังตอบรับกระแส พิมดาว — เกล็ดดาว พานิชสมัย และ เปิ้ล — หัทยา วงษ์กระจ่าง ร่วมเสวนารณรงค์ป้องกันโรคปอดบวม และการดูแลสุขภาพในวัยผู้ใหญ่

องค์การอนามัยโลก เห็นความสำคัญ กำหนดให้ 12 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันปอดบวมโลก”

บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านนวัตกรรมยาคุณภาพของไทยและของโลก จัดงานเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง “รู้ทัน...ป้องกันโรคปอดบวม” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของโรคปอดบวม พร้อมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกัน เพื่อลดสถิติผู้ป่วยโรคปอดบวม ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศอยู่ในขณะนี้ หลังมีรายงานจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวง-สาธารณสุข ช่วง 1 มกราคม — 4 สิงหาคม 2556 พบผู้ป่วยโรคปอดบวม 99,670 รายทั่วประเทศ (คิดเป็นอัตราป่วย 156.90 ต่อประชากรแสนคน) และเสียชีวิตแล้ว 581 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ ผู้ใหญ่วัย 65 ปีขึ้นไป ที่พบมากถึง 30.5%1

งานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ บรรยายให้ความรู้เรื่อง เชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) สาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมร่วมด้วย คู่แม่ลูกคนดัง พิมดาว — เกล็ดดาว พานิชสมัย และผู้บริหารคลื่นวิทยุ/ดีเจคนดัง เปิ้ล — หัทยา วงษ์กระจ่าง โดยมี มร. คริสเตียน มัลเฮอร์บี ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ

มร. คริสเตียน มัลเฮอร์บี ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไฟเซอร์มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี เราค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมยาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยและทั่วโลก สำหรับโรคปอดบวมที่เป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงและอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งคุกคามผู้คนอยู่ในขณะนี้ เราเห็นความสำคัญในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางในการป้องกันโรค จึงจัดรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันโรคปอดบวมและการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า “โรคปอดบวมเป็นเสมือนภัยเงียบที่คนส่วนใหญ่ไม่ทันได้ตระหนักและระวังตัว เนื่องจากอาการระยะเริ่มต้นมีความ-คล้ายคลึงกับการเป็นไข้หวัด อันที่จริงแล้ว โรคปอดบวมมีความสัมพันธ์อย่างมากกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่จะพบมากในช่วงฤดูฝน และเมื่ออากาศเย็นลง ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อนิวโมคอคคัส อันเป็นเชื้อก่อโรคสาเหตุหลักของโรคปอดบวม หรือหากเชื้อมีความรุนแรงมากอาจลุกลามไปสู่โรคอื่นๆ เช่น โรคเยื่อหุ้ม-สมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต และหูชั้นกลางอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือดที่เรียกว่า โรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease) ทั้งนี้ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เชื้อไข้หวัดใหญ่อาจเข้าทำลายเยื่อบุของหลอดลมหรือปอด เป็นเหตุให้เชื้อนิวโมคอคคัสที่อาศัยอยู่ในบริเวณคอหอย และเยื่อบุโพรงจมูกฉวยโอกาสหลุดรอดลงไปในหลอดลมและปอด จนเกิดการติดเชื้อรุนแรงในปอด ทำให้ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตในที่สุด”

“พบว่าเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตคนกว่าหลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ใหญ่วัย 50 ปีขึ้นไปและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี3 เนื่องจากคนทั้งสองกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ จึงเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรังอื่นๆ จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2542 — 2543 ของคนไข้อายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง พบว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจเรื้อรัง และโรคมะเร็ง จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อนิวโมคอคคัสเพิ่มขึ้น 3.4, 6.4 และ 22.9 เท่าตามลำดับ2” ศ.นพ. ธีระพงษ์ กล่าว

เชื้อนิวโมคอคคัสสามารถติดต่อได้โดยผ่านระบบทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม และการสัมผัสกับละอองเสมหะของผู้ป่วย แม้ว่าการติดเชื้อสามารถรักษาได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ แต่ปัจจุบันพบว่าเชื้อ นิวโมคอคคัสมีการดื้อยาปฏิชีวนะหลายๆ ชนิด ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร รวมถึงอาจส่งผลในเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการรักษาอีกด้วย ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยประชาชนไม่จำกัดวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก ผู้ใหญ่วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันโรคปอดบวมได้

เนื่องจากโรคปอดบวมเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่คร่าชีวิตผู้คนหลายล้านคนในแต่ละปี องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรพันธมิตรกว่า 140 องค์กร จึงได้กำหนดให้ วันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันปอดบวมโลก” (World Pneumonia Day) เพื่อรณรงค์ให้เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคปอดบวมและการป้องกัน เพื่อร่วมกันลดสถิติผู้ป่วย

ในประเทศไทย มีอัตราผู้ป่วยด้วยโรคปอดบวมสูงมาก จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยเป็นโรคปอดบวมมากที่สุดในช่วงฤดูฝน ระหว่าง เดือนสิงหาคม - ตุลาคม และในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในเดือนมกราคม - ต้นเดือนมีนาคม1 ดังนั้น การเฝ้าระวังและการช่วยกันดูแลสมาชิกในครอบครัวจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการร่วมกันลดสถิติผู้ป่วย

สาวเก่ง เปิ้ล — หัทยา วงษ์กระจ่าง เผยว่า “ยิ่งเราอายุมากขึ้น การดูแลสุขภาพยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า ในเมื่อเรายังทำงานได้อยู่ ร่างกายยังไหว ไม่ได้ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ แต่ใครจะไปคาดคิดว่าอาจมีช่วงที่ร่างกายของเราอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรค ประกอบกับอายุที่มากขึ้น การฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยก็จะช้าตามไปด้วย ดังนั้น จึงอยากรณรงค์ให้ผู้ใหญ่ทุกคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะคงไม่มีใครอยากเจ็บป่วยเป็นเวลานานๆ เพราะนอกจากจะบั่นทอนร่างกายของเราเองแล้ว ยังบั่นทอนจิตใจ ทำให้เราไม่สามารถปฏิบัติภารกิจต่างๆ ได้เต็มที่อีกด้วย”

มัดหมี่ — พิมดาว พานิชสมัย จูงมือ คุณแม่เกล็ดดาว มาร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ พร้อมเผยว่า “คนส่วนใหญ่จะกังวลถึงโรคปอดบวมในเด็กเล็กๆ มากกว่า แต่ความจริงแล้ว ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นโรคติดต่อ เราทุกคนไม่ว่าจะอยู่วัยไหนก็ล้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคด้วยกันทั้งนั้น จึงอยากเชิญชวนทุกคนให้ช่วยกันดูแลสมาชิกในครอบครัว อย่างครอบครัวของเราเอง คุณแม่จะคอยดูแลสุขภาพของพวกเราอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพักผ่อน การดูแลสุขภาพ ทั้งนี้อยากจะฝากลูกๆ ทุกคนว่า ขณะที่พ่อแม่เป็นห่วงเป็นใยดูแลเรามาโดยตลอด เราเองก็อย่าลืมดูแลสุขภาพของท่านด้วย”

ด้านคุณแม่เกล็ดดาว พานิชสมัย เผยว่า “ด้วยหน้าที่ของแม่และภรรยา เราต้องดูแลสมาชิกทุกคนในครอบครัวในทุกๆ เรื่อง การช่วยกันดูแลสุขภาพ และเสริมสร้างเกราะป้องกันสุขภาพให้กับสมาชิกรวมถึงตนเอง”

ศ.นพ. ธีระพงษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันโรคปอดบวม นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพอนามัย การรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และการหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยแล้ว ยังมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

1. วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรด์ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไป โดยมากมักจะใช้ฉีดในวัยผู้ใหญ่

2. วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต ชนิดป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 10 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ — 5 ปี และวัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่สามารถป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป จนถึง วัยผู้สูงอายุ

ศ. นพ. ธีระพงษ์ กล่าวว่า “วัคซีนนิวโมคอคคัสยังจัดเป็นวัคซีนทางเลือก ผู้บริโภคควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่า และอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปวดบวมบริเวณที่ฉีด ซึ่งมักจะไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 2 - 3 วัน”

“ไฟเซอร์มีเป้าหมายหลักในการเป็นเพื่อนคู่คิดที่ช่วยดูแลสุขภาพของคนไทย โดยเรายังคงมุ่งมั่นค้นคว้าวิจัยและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์ยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยในการรักษาและป้องกันโรค โดยหวังว่าเราจะมีส่วนช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคต่างๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยทุกคน” มร. มัลเฮอร์บี กล่าวสรุป

ที่มา:

1 สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข:

http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=57559

2 Kyaw MH, Rose CE, Jr., Fry AM, Singleton JA, Moore Z, Zell ER, et al. The influence of chronic illnesses onthe incidence of invasive pneumococcal disease in adults. J Infect Dis. 2005;192(3):377-86.

3 ข้อมูลโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: บริษัท บางกอก พับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด โทรศัพท์ 02 664 9500

กัณฑิชา บุญโพธิ์แก้ว (ต่อ 112) ภัตติมา ก้อนฝ้าย (ต่อ 113) หรือ ปานตา พูนทรัพย์มณี (ต่อ 116)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๓๙ คัมมิ่นส์ ดีเคเอสเอช ร่วมจัดแสดงสินค้าเครื่องยนต์คัมมิ่นส์ รุ่น QSB6.7 สำหรับรถตัดอ้อย
๑๗:๑๒ ค็อกพิทรุกขยายสาขาต่อเนื่อง ปักหมุดสาขาใหม่ย่านถนนศรีจันทร์ ขอนแก่น มอบความสุขลูกค้าส่งท้ายปีด้วยโปรโมชันใหญ่สุดคุ้ม
๑๖:๐๐ ไอคอนสยาม ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐ เตรียมพร้อมกำลังพลปฏิบัติการด้านความปลอดภัยขั้นสุด ต้อนรับงานเคานต์ดาวน์
๑๕:๑๒ เซ็นทาราออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนเป็นครั้งแรก สอดรับการเติบโตในเอเชีย
๑๕:๑๐ ดีเดย์! 4 ศูนย์การค้าในเครือ เอ็ม บี เค เปิดโครงการ ข.ขวดรักษ์โลก แยกขวดช่วยน้อง สนองเป้า Net Zero บริหารจัดการขยะอย่างรู้คุณค่า 4
๑๕:๔๘ สจส. เร่งศึกษารูปแบบจัดการเดินเรือในคลอง-สนับสนุนเอกชนลงทุน-ใช้พลังงานสะอาด
๑๕:๐๓ D-Link ยืนยัน มุ่งสร้างความมั่นใจในการเชื่อมต่ออัจฉริยะและความปลอดภัยทางไซเบอร์
๑๕:๔๑ TBC จัดงาน Business Partner Award 2024 ครั้งแรกกับงานมอบรางวัลเกียรติคุณยกย่อง ให้กับพันธมิตรทางธุรกิจที่พร้อมเสริมสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืน
๑๕:๒๕ ต้นกล้าฟ้าใส จัด 3 เซ็ตเมนูพิเศษแบบ อร่อย.ดี ฟินคุ้ม เริ่มเพียง 149 บาท
๑๕:๑๔ สสว. ปลื้มกิจกรรมส่งท้าย Roadshow SME Academy On Tour ที่ จ.ยะลา มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการ SME เสริมเกราะความรู้เพื่อธุรกิจเติบโต