นางญาณี เลิศไกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานพิธีเปิดกล่าวว่า “ กิจกรรมวัยซน...ค้นโลก” เป็นกิจกรรมต่อยอดจาก “โครงการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก” ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จัดขึ้นเพื่อเพิ่มและพัฒนาศักยภาพของเด็กวัย 7-9 ขวบ โดยนำผู้แทนจากศูนย์ ๓ วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัวรวม 40 หน่วยงาน และเด็กๆจากสถานสงเคราะห์ในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อีก 16 แห่ง มาสู่กระบวนการเรียนรู้เชิงวิทยาศาตร์ เพื่อปรับใช้และส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดเป็น ทำเป็น และแก้ไขปัญหาผ่านการสร้างของเล่นซึ่งคอนเซ็ปต์ปีนี้คือ “ของเล่นอาเซียน มีเสียง” ที่เชื่อมโยงความรู้ในการเรียนวิทยาศาสตร์ ผสานเข้ากับอัตลักษณ์ในท้องถิ่น”
และครั้งนี้ได้เชิญวิทยากรพิเศษ นายศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ นักวิชาการอิสระด้านวัฒนธรรมอาเซียน มาให้ความรู้ในหัวข้อ “วัฒนธรรมข้าวเรียงร้อยอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว หลากอัตลักษณ์ แต่วัฒนธรรมเดียว” เพื่อกระตุ้นผู้อบรมให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของผู้คนในอาเซียนที่มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน ในเรื่องของการเพาะปลูกหรือความสัมพันธ์กับข้าว วัฒนธรรมการละเล่นหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งปรากฏทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการคิดค้นและประดิษฐ์ของเล่นเพื่อส่งเข้าประกวดต่อไป
โดย ด.ช.ประกาศิต กลางพันธ์ และ ด.ช.กำธน ไตรยวงศ์ ทีมผู้ชนะเลิศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้แทนจาก ศูนย์ ๓ วัยจังหวัดมุกดาหาร ร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งทั้งสองรู้สึกประทับใจพี่ๆที่พามาเที่ยวชมงานซึ่งมีไอเดียของเล่นที่ทำจากวัสดุพื้นบ้านมากมายที่พวกเขาจะจำวิธีทำและนำกลับไปทำเล่นเองที่บ้าน ที่สำคัญรู้สึกประทับใจคณะกรรมการที่ใจดีทำให้ไม่ตื่นเต้นมากนัก สุดท้ายน้องทั้งสองได้นำเสนอสิ่งประดิษฐ์ของเล่นอาเซียน...มีเสียง โดยตั้งชื่อผลงานว่า “ลูกข่างสะบ้า” เป็นของเล่นที่ทำจากลูกสะบ้าหรือหมากสะบ้า ซึ่งสามารถหาได้ตามหัวไร่ปลายนา เด็กทั้งสองช่วยกันนำเมล็ดสะบ้ามาเจาะรูใส่แกนแล้วหมุนแรงๆ จะเกิดเสียง เด็กชอบนำไปเล่นแข่งขันกันตามลานนวดข้าว น้องเล่าด้วยใบหน้าแช่มชื่นว่า “ยิ่งเล่นหลายคนยิ่งสนุก...”
ด.ญ.ชนิลรัตน์ อารง และ ด.ญ.นูรมายีฮัน เจ๊ะ ทีมผู้ชนะเลิศภาคใต้ ผู้แทนจากสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านปัตตานี ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานของเล่นอาเซียน...มีเสียงจากวัสดุที่มีอยู่มากในภาคใต้คือลูกของยางพารา โดยให้ชื่อชิ้นงานว่า “กังหันลูกยางพารา” ภายใต้แนวคิดยางพาราเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจอาเซียน เด็กหญิงเผยด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า ชอบที่จะชวนกันกับเพื่อนๆนำสิ่งของรอบๆตัวมาทำของเล่น รู้สึกสนุกที่ได้ช่วยกันหาวิธีทำ ได้ลองเล่นร่วมกัน ทำให้ในแต่ละวันไม่เบื่อ ไม่เครียด มีแต่เรื่องสนุกสนานอยู่เสมอ ทำบ่อยๆจนคุณครูชวนมาร่วมแข่งขันในครั้งนี้
ทั้งนี้เด็กทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าดีใจ สนุก และประทับใจ ที่ได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวและวิถีชีวิตของคนอาเซียนที่มีความเกี่ยวพันกันผ่านวัฒนธรรมของข้าว ทั้งยังได้มีโอกาสคิดค้น ทดลอง และได้ลงมือทำของเล่นโดยมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน ซึ่งจะนำสิ่งเหล่านี้กลับไปบอกกล่าวแก่เพื่อน จะชักชวนเพื่อนๆที่โรงเรียนที่ชุมชนมาร่วมกันผลิตของเล่นใหม่ๆต่อไปด้วย
สำหรับของเล่นที่ประดิษฐ์ขึ้นทั้งหมด จะถูกพิจารณาตัดสินโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาการเด็กและกระบวนการสร้างการเรียนรู้ของเด็กวัย7-9 ปี รวมถึงวัฒนธรรมอาเซียน อาทิ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ รองหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล นายทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านของเล่นพื้นบ้าน นางจิรภัทร ขำญาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก เพื่อค้นหา “ของเล่นอาเซียน...มีเสียง” ที่เข้าหลักเกณฑ์มากที่สุด เพื่อรับรางวัลชนะเลิศในการประกวดประจำปี และได้รับสิทธิ์แสดงผลงานในงานมหกรรมเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูกปี 2556 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ 3 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2556 นี้