ดร.พิพัฒน์ ลิมปนะพิทยาธร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการสัมมนาแนะแนวการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกและทุนการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา ว่า จากการสำรวจความต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกของอาจารย์และบุคลากรภายในคณะวิทยาศาสตร์ฯ ที่เข้าร่วมอบรมโครงการแนะแนวการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ เมื่อช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าอาจารย์และบุคลากรมีความสนใจจะศึกษาต่อระดับปริญญาเอกเพิ่มมากขึ้น จึงมอบนโยบาย ให้ ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จัดสัมมนาแนะแนวการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกและทุนการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ โดยมี Mr.Kenneth Holt จาก AUT University Ms.Jean Williamson จาก University of Canterbury Mr.Russell Yates จาก University of Waikato และ Mr.Roger Armstrong จาก Victoria University of Wellington เป็นวิทยากรบรรยาย
ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า จากการบรรยายครั้งนี้ส่งผลให้อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ฯ และอาจารย์ผู้สนใจจากภายนอก ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก และทุนการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ รวมทั้งการเตรียมตัวเพื่อการศึกษาต่อ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งหวังในการพัฒนาบุคลากร อันเป็นนโยบายหลักอย่างหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ฯ และ มรภ.สงขลา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางคณะได้จัดกิจกรรม โครงการ เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว เช่น โครงการอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาต่อ โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อการศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการแนะนำหลักสูตรระดับปริญญาเอกและทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
ด้าน ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายในการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อแนะนำระบบการศึกษา มหาวิทยาลัย และข้อมูลเกี่ยวกับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก ซึ่งนอกจากจะสัมมนาให้ความรู้แก่อาจารย์และบุคลากรแล้ว ยังมีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างตัวแทนของมหาวิทยาลัยดังกล่าวกับคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ และผู้บริหาร มรภ.สงขลา นำโดย รศ.ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ อธิการบดี เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาอาจารย์ในอนาคตอีกด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 60 คน ประกอบด้วย อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ฯ คณะวิทยาการจัดการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะศิลปกรรม คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา และมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น
ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าวอีกว่า ผลจากการสัมมนานอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้อาจารย์สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาเอกมากขึ้น และเห็นถึงแนวทางในการวางแผนการพัฒนาตนเองแล้ว การเจรจาความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยจากทั้ง 2 ประเทศ ในการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน โดยเบื้องต้นเป็นการทำความรู้จักกันก่อน และจะมีกิจกรรมร่วมกันต่อไป ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะแสวงหาข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยระหว่างสัมมนาได้มีการซักถามเกี่ยวกับเรื่องหลักสูตร และพูดคุยเพิ่มเติมระหว่างอาจารย์แต่ละคนกับตัวแทนมหาวิทยาลัยต่างๆ จากประเทศนิวซีแลนด์