บริษัทกรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส ให้บริการรถยนต์เช่าดำเนินงานทั้งแบบระยะยาวและระยะสั้น หลังจากการปรับโครงสร้างเงินทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปลายปี 2548 สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จาก 1,283 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 2,977 ล้านบาทในปี 2552 เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิแล้ว นับตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2554 บริษัทถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการ 30 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ในปี 2555 สถานะทางการตลาดของบริษัทลดลงมาเป็นอันดับ 5 เนื่องจากคู่แข่งขยายขนาดสินทรัพย์ให้เช่าอย่างรวดเร็ว ภาวะการแข่งขันด้านราคายังคงมีความรุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มสัญญารถเช่าที่มีขนาดใหญ่และการประมูลงานภาครัฐ บริษัทเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการประมูลงานทั่วไปหรือรับงานจากโครงการที่ได้รับอัตราค่าเช่าต่ำ แต่มีกลยุทธ์ที่เน้นบริการที่มีคุณภาพและใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในการรักษาฐานลูกค้าเดิม บริษัทใช้วิธีขยายฐานลูกค้าโดยการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เห็นความสำคัญของบริการที่ดีและยินดีจ่ายเพื่อบริการดังกล่าว สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 2,917 ล้านบาทในปี 2554 เหลือ 2,863 ล้านบาทในปี 2555 และลดลงเหลือ 2,757 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 บริษัทมีรายได้จากการให้เช่ารถยนต์แบบระยะยาวคิดเป็นอัตราส่วน 95% ของรายได้ค่าเช่ารวมและคิดเป็น 50% ของรายได้รวม ณ สิ้นปี 2555 บริษัทมีรถยนต์ให้เช่า 6,499 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 6,408 คันในปี 2554 ทั้งนี้ จำนวน 90% ของรถยนต์ของบริษัทให้บริการภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว และส่วนที่เหลือให้เช่าระยะสั้นและเป็นรถทดแทน
บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง บริษัทจัดซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ให้เช่าในสัดส่วนมากกว่า 50% ของรถยนต์ที่จัดซื้อทั้งปีผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลจันทรเสรีกุลเป็นเจ้าของ การจัดซื้อรถยนต์จากตัวแทนจำหน่ายของผู้ถือหุ้นใหญ่ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ด้านข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอพิเศษจากผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งช่วยให้บริษัทจัดซื้อรถยนต์ให้เช่าในราคาที่ต่ำกว่า และนอกจากการมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 800 แห่งซึ่งบริษัททำสัญญาทางธุรกิจด้วยแล้ว บริษัทยังเป็นเจ้าของศูนย์บริการของตนเองซึ่งทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็นอันอาจเกิดจากศูนย์บริการภายนอกด้วย บริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าซึ่งหมดสัญญาเช่ากับลูกค้าแล้วผ่านทางบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงไทย ออโตโมบิล จำกัด ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลและการได้รับการรับรองคุณภาพรถยนต์ใช้แล้วภายใต้โครงการ “โตโยต้าชัวร์” ช่วยให้บริษัทสามารถจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาในราคาที่สูงกว่าการจำหน่ายผ่านตัวแทนรับประมูลทั่วไป ทำให้บริษัทมีกำไรจากการขายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจซื้อขายรถยนต์ใช้แล้วของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิล ได้รับผลกระทบจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลซึ่งทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ใช้แล้วถูกแทนที่ด้วยความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ในทันที ส่งผลให้ราคารถยนต์ใช้แล้วปรับตัวลดลงอย่างมาก สถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงปลายปีนี้เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ยังคงมีแผนการตลาดเชิงรุกเพื่อพยายามลดยอดรถยนต์ใหม่คงคลังส่วนเกินให้หมดไป คณะผู้บริหารบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิล ตัดสินใจที่จะพยายามขายรถยนต์ให้เช่าที่หมดอายุของบริษัทมากกว่าการซื้อขายรถยนต์ใช้แล้วซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ทั้งนี้ กำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าของบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากความต้องการรถยนต์ใช้แล้วที่ลดลง อย่างไรก็ดี นโยบายตัดค่าเสื่อมราคาแบบอนุรักษ์นิยมยังคงช่วยให้บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าถึงแม้ว่าอัตรากำไรจะลดลงก็ตาม ตั้งแต่ปี 2551-2555 กำไรสุทธิของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิล คิดเป็นสัดส่วน 12%-14% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัท อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือ 5% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ทั้งนี้ ธุรกิจซื้อขายรถยนต์ใช้แล้วของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิล คาดว่าจะฟื้นตัวในปีหน้าหลังจากตลาดรถยนต์ใช้แล้วกลับคืนสู่ภาวะเดิมอีกครั้ง
ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง อัตรากำไรขั้นต้นของรายได้จากค่าเช่ารถยนต์ของบริษัทลดลงจาก 19.1% ในปี 2555 เหลือ 16.6% สำหรับครึ่งแรกของปี 2556 ในปี 2555 บริษัทมีกำไรก่อนภาษีที่ 523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2554 ความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและกำไรที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจซื้อขายรถยนต์ใช้แล้ว กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 22% จาก 325 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 397 ล้านบาทในปี 2555 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากอัตราภาษีเงินได้ที่ลดลงจาก 30% ในปี 2554 เหลือ 23% ในปี 2555 ผลของราคารถยนต์ใช้แล้วที่ลดลงและการชะลอตัวของธุรกิจซื้อขายรถยนต์ใช้แล้วส่งผลทำให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลง 26% จาก 216 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 เหลือ 159 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 อัตรากำไรสุทธิของบริษัทลดลงจาก 19.2% ในปี 2555 เหลือ 17.4% สำหรับครึ่งแรกของปี 2556 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ถึงแม้ว่าอัตรากำไรสุทธิจะลดลง แต่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมแล้วยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
บริษัทมีฐานะสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับปานกลาง โดยมีสภาพคล่องที่เพียงพอที่ได้รับจากค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ลักษณะของสินทรัพย์ให้เช่าซึ่งมีสภาพคล่องสูงในการจำหน่ายจะช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้แก่บริษัทได้บางส่วน
บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) (KCAR)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable