กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ โดยระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลและการเติบโตของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลได้
บริษัทน้ำตาลขอนแก่นก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ปัจจุบันตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทรวม 70.0% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทย โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 92,000 ตันอ้อยต่อวัน กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถหีบอ้อยได้ 7.7 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2555/2556 และผลิตน้ำตาลได้ 738,952 ตัน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 7.4% ในปีการผลิต 2555/2556 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด 19.9% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 16.3% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 9.3%
ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยอันประกอบด้วยธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและเอทานอล โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ย 10% ของรายได้รวม ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจพลังงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของ EBITDA รวมของบริษัท ปัจจุบันธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชามีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทย โดยผลผลิตน้ำตาลในทั้ง 2 ประเทศในปีการผลิต 2555/2556 มีเพียง 35,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงงานของบริษัทในทั้ง 2 ประเทศ นี้จะถึงจุดคุ้มทุนในปีการผลิต 2556/2557
จากพื้นที่ปลูกและปริมาณอ้อยที่มีจำกัดในเขตพื้นที่โรงงานน้ำตาลเดิม บริษัทได้สร้างศูนย์การผลิตแห่งใหม่ในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้เงินลงทุน 7,250 ล้านบาท หลังจากศูนย์การผลิตน้ำตาลและเอทานอลสร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 2555 ทำให้กำลังการหีบอ้อยของกลุ่มเพิ่มขึ้น 43.8% จาก 64,000 ตันต่อวันเป็น 92,000 ตันต่อวัน ส่วนแบ่งการผลิตของบริษัทก็เพิ่มขึ้นจาก 6.4% ในปีการผลิต 2553/2554 เป็น 7.4% ในปีการผลิต 2555/2556 และกำลังการผลิตเอทานอลรวมก็เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว คือจาก 150,000 ลิตรต่อวันเป็น 350,000 ลิตรต่อวัน
แม้ว่าราคาน้ำตาลลดลง แต่ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปีการเงิน 2555-2556 ก็ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 35% เป็น 22,212 ล้านบาทในปีการเงิน 2555 จาก 16,460 ล้านบาทในปีการเงิน 2554 เนื่องจากศูนย์การผลิตแห่งใหม่ในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดเลยเริ่มเปิดดำเนินการ EBITDA ในปีการเงิน 2555 สูงขึ้นเป็น 4,580 ล้านบาทจาก 3,891 ล้านบาทในปี 2554 EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 500 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 1,000 ล้านบาทในปี 2555 โดยปริมาณขายเอทานอลเพิ่มขึ้นมากกว่า 200% จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในศูนย์การผลิตที่บ่อพลอยและความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีการยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 91 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทค่อนข้างคงที่ โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 50%-55% ในแต่ละปีการเงินซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม ส่วนในระหว่างปี 2557 ถึง 2559 บริษัทมีแผนลงทุนในโครงการต่าง ๆ ประมาณ 2,000 ล้านบาท ถึง 3,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์ EBITDA ประมาณ 3,000 ล้านบาท ถึง 4,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าบริษัทยังคงสามารถรักษาระดับเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ระดับนี้ต่อไปได้
ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2555/2556 ปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยมีจำนวน 100 ล้านตันอ้อย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 98 ล้านตันในปีการผลิต 2554/2555 ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกซึ่งหลังจากเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดที่ 36.11 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมกราคม 2554 แล้วก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 18-19 เซนต์/ปอนด์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เป็นต้นมาเนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น
บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KSL14DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A
KSL15DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable