สภากาชาดไทยร่วมกรมควบคุมโรคจัดงานวันเอดส์โลก ปี 56

ศุกร์ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๐๑๓ ๑๑:๒๐
วันนี้(14 พฤศจิกายน 2556)ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าว “การจัดงานเทียนส่องใจ เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2556” เพื่อร่วมสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยโรคเอดส์หรือผู้ติดเชื้อได้เข้าถึงบริการป้องกันและการดูแลรักษาให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น มุ่งสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ ภายใต้แนวคิด “ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ” สอดคล้องกับประเด็นรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลกปี 2556 ที่ว่า “Getting to Zero” หรือ “เอดส์ลดให้เหลือศูนย์ได้”

ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์เอดส์โลกในปัจจุบันว่า เอดส์ยังคงเป็นปัญหาและเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและประเทศไทย จากการรายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) คาดประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก 35.3 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2555เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 2.3 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ประมาณ 1.6 ล้านคน ลดลงจากปี พ.ศ. 2548 ร้อยละ 30 เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์เอดส์ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2556 คาดประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สะสมประมาณ 1,166,543 คน ยังมีชีวิตอยู่ 447,640 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,959 คน ประมาณร้อยละ 62 เป็นการติดเชื้อฯในกลุ่มชายรักชาย กลุ่มพนักงานบริการหญิง และกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด ผู้ป่วยเอดส์ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 30 — 34 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป สาเหตุของการติดเชื้ออันดับหนึ่งร้อยละ 84.26 จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน รองลงมาร้อยละ 4.36 จากการใช้สารเสพติดชนิดฉีด และร้อยละ 3.53 ติดเชื้อจากมารดา

“แม้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมาก ทำให้ผู้ติดเชื้อฯมีสุขภาพที่แข็งแรงมีชีวิตยืนยาวได้ แต่ยังคงมีผู้ติดเชื้อฯ อีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการป้องกันและการดูแลรักษาฯ ด้วยเหตุผลสำคัญคือผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเอดส์ไม่ได้รับการยอมรับ ถูกตีตรา และการเลือกปฏิบัติจากสังคม จึงไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าบอกว่าตนเองมีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อที่ว่าผู้ติดเชื้อฯไม่แข็งแรง หรือผู้ติดเชื้อคือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม รวมไปถึงความเข้าใจผิดว่าเอดส์สามารถติดต่อกันได้ง่ายๆ จากการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน”

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าเพื่อให้ประชาชนไทยได้เข้าถึงการดูแลเพื่อป้องกันและรักษาการติดเชื้อเอชไอวีอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและมีคุณภาพ ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุนคือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมในการผลักดันและสนับสนุนมาตรการและดำเนินงานในด้านต่างๆทั้งการป้องกันและดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ครบถ้วนตั้งแต่การได้รับความรู้ การเข้าถึงบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไปจนถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบส่งต่อ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อฯสามารถเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการที่ผู้ติดเชื้อฯได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยลดการติดเชื้อฯในคู่ลงได้ถึงร้อยละ 96 และยังสนับสนุนให้มีการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอในรายที่ตรวจไม่พบเชื้อฯ เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพของตนเอง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่าวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีองค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) กำหนดให้เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) โดยในปีนี้ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์คือ “Getting to Zero” หรือ “เอดส์ลดให้เหลือศูนย์ได้” เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันรณรงค์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์

สำหรับประเทศไทยการรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลกปี พ.ศ.2556 นี้กรมควบคุมโรคและภาคีเครือข่ายภาคที่เกี่ยวข้องได้นำยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ. 2555—2559 มาสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่มุ่งสู่ความเป็นศูนย์ ภายใต้แนวคิด 3 ต.คือ “ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ” กล่าวคือภายในปี 2559 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต้องลดลง 2 ใน 3 อัตราการติดเชื้อทารกแรกคลอดน้อยกว่าร้อยละ2 ผู้ติดเชื้อฯได้เข้าถึงการดูแลรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม เสียชีวิตลดลงมากกว่าร้อยละ50 และเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคลดลงมากกว่าร้อยละ50 กฎหมายและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการป้องกันดูแลรักษาพยาบาลได้รับการแก้ไข ผู้ติดเชื้อและกลุ่มประชากรเป้าหมายหลักถูกเลือกปฏิบัติหรือการละเมิดสิทธิลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ50 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็เหมือนการร่วมกันจุดเทียนเพื่อสร้างแสงสว่างในใจให้กับผู้ป่วยโรคเอดส์หรือผู้ติดเชื้อให้ได้รับรู้ถึงความหวังและโอกาสในการเข้าถึงบริการป้องกันและการดูแลรักษาให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ”งานเทียนส่องใจเนื่องในวันเอดส์โลกวันที่ 1 ธันวาคม2556” นั่นเอง นพ.สมศักดิ์กล่าวปิดท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version