ที่ห้างสรรพสินค้าซิตี้มอลล์ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมืองอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูเสดประเทศไทย (USAID) จัดเวทีเสวนา “คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานภาคประชาชน คพข.” โดยเชิญตัวแทน คพข.ในเขตอีสานตอนล่างมาระดมความเห็นปัญหาอุปสรรคการใช้พลังงานที่ผ่านมา มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายวรยุทธ์ ศรีปราโมทย์ ผู้ชำนาญการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงพันธกิจของหน่วยงานมีหน้าที่ออกใบอนุญาตกำกับการผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้าให้ภาคเอกชน รวมทั้งเป็นผู้กำหนดค่าใช้ไฟทุกประเภท
แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้พลังงานสูงสุดกฎหมายได้จัดตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานระดับเขต หรือ คพข.จำนวน 13 เขตขึ้นมากำกับดูแลการใช้พลัง โดยเป็นผู้คอยรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้ไฟในทุกกรณี อาทิ ไฟตก ไฟดับ เสาไฟฟ้าล้มไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามปกติ หรือกระแสไฟทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าพังเสียหาย
“ประชาชนสามารถทำเรื่องร้องเรียนกับ คพข.ได้ทันที เพื่อขอรับความคุ้มครองและการเยี่ยวยาในแต่ละกรณี”ขณะที่นายคำพอง เทพาคำ คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต 5 อุบลราชธานี กล่าวถึงการร้องเรียนของประชาชนที่ผ่านมา มีมาเป็นระยะ แต่ที่ คพข.ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ค่าเอฟที หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งผู้ใช้บริการมองว่าถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการ จะแก้ไขอย่างไร รวมทั้งการขอขยายเขตใช้ไฟฟ้าในภาคเกษตรกรรม หรือที่ดินในเขตป่าสงวน ซึ่งอดีตทำได้ยากมาก แต่เมื่อมี คพข.ก็ทำได้มากขึ้น
“คพข.จึงทำหน้าที่ด้านนโยบาย โดยนำปัญหาจากท้องถิ่นเสนอไปยังส่วนกลาง เช่น ปัญหาการยกหม้อ ตัดไฟประชาชนที่ค้างค่าไฟ เดิมเมื่อครบกำหนดให้ชำระ ต้องชำระผ่านใน 7 วัน แต่ปัจจุบันมีการยืดเวลาให้เป็น 30 วัน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากไม่มีไฟฟ้าใช้”
สำหรับสิ่งที่ คพข.ตัวแทนจากภาคประชาชนยังต้องเดินหน้าทำต่อไป ก็คือคุ้มครองสิทธิประชาชนในการใช้ไฟฟ้าให้ได้มากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเช่น การจ่ายเงินตามเคาท์เตอร์เซอร์วิสต่างๆ ซึ่งได้รับเปอร์เซ็นต์จากการไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ยังไปเรียกเก็บกับประชาชนอีก ขณะนี้ คพข.ทุกเขตกำลังร่วมกันผลักดันไม่ให้มีการเรียกเก็บซ้ำซ้อนนอีก นายคำพองกล่าว
ด้านสุพรรณ สาคร คพข.ภาคประชาสังคมเขต 5 อุบลราชธานี กล่าวถึงการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บริการไม่สะดวก ประชาชนสามารถร้องเรียนได้โดยตรงกับสำนักงานไฟฟ้าทุกแห่ง หรือหากไม่แน่ใจจะได้รับการแก้ไขอย่างทันที ก็สามารถร้องเรียนกับคณะกรรมการ คพข.ได้
แต่ต้องใช้วิธีการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ มีเอกสารประจำตัวใช้ยืนยัน โดยเรื่องร้องเรียนทำได้ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น ที่บ้านมีไฟฟ้าตกบ่อย เกรงจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย หรือขอใช้ไฟฟ้านานแล้วยังไม่ได้ใช้ไฟ ก็สามารถเข้ามาร้องเรียน โดย คพข.จะเป็นผู้ช่วยตรวจสอบข้อบกพร่องต่างๆที่เกิดขึ้น
“คพข.ไม่ได้มีหน้าที่ไปจับผิดการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่มีหน้าที่ช่วยยกระดับการให้บริการที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ”
สำหรับขณะนี้ ยังมีประชาชนจำนวนมากไม่ทราบบทบาทหน้าที่ของ คพข.คณะกรรมการอยู่ระหว่างการสร้างเครือข่ายใช้ประชาสัมพันธ์ในทุกด้าน
และประชาชนที่อยู่ในเขต 8 จังหวัดอีสานตอนล่างสามารถร้องเรียนกับคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต 5 อุบลราชธานี ได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 045-242-718 หรือศึกษาวิธีการร้องเรียนได้ที่เวปไซค์ http://www.erc.or.th หรือ http://www.recc.erc.or.th
สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่สร้าง สุขแชนแนล วีเคเบิลทีวี โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี