พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละประมาณปีละ 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ความต้องการไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้น มาจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตของสังคมโดยรวม
ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในประเทศ มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากถึงร้อยละ 70 โดยปริมาณส่วนใหญ่มาจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งปัจจุบันปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศมีไม่เพียงพอกับความต้องการ จำต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศในราคาที่สูงกว่า ในขณะที่รัฐบาลเร่งดำเนินการในการจัดหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ หรือพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน เพื่อให้ประเทศมีปริมาณไฟฟ้าที่เพียงพอ และมีต้นทุนในการผลิตลดลง แต่การดำเนินงานยังมีความล่าช้า เนื่องจากเกิดกระแสคัดค้านของคนในพื้นที่
ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รัฐบาลจึงต้องดำเนินการรณรงค์ให้คนไทยรู้จักใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศเพียงพอกับความต้องการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ๆ คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับโครงการสร้างความตระหนัก ปลูกจิตสำนึก และสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ดำเนินกิจกรรมการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในกลุ่มเยาวชน ภายใต้ชื่อโครงการ “พลังคิด สะกิดโลก” โดยมีแนวคิดผลักดันให้ปี 2556 เป็นปีเริ่มต้น ลดการใช้พลังงานในภาคประชาชน โดยมีกลยุทธ์การสื่อสารว่า “ความสุขจะเกิดขึ้นได้ เกิดจากการเปลี่ยนมุมคิดการประหยัดพลังงาน รวมพลังเยาวชนไทยลดการใช้พลังงาน : ลดวันนี้ ชีวิตมีสุข” และสร้างให้เกิดยุทธวิธีสื่อสารครั้งแรกของการแข่งขันลดการใช้พลังงานครั้งสำคัญของประเทศ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้คือเยาวชนรู้คุณค่าและลดใช้พลังงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น กระทรวงพลังงานได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ 5 ประการคือ 1.เสริมสร้างความเข้าใจและสร้างเสริมประสบการณ์ ปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรพลังงาน ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้พลังงานให้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 2. ส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง สร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการคิดสร้างสรรค์ วิธีการและกิจกรรม ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการอนุรักษ์ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่แนวคิดเป็นแบบอย่างต่อเยาวชนอื่นๆ ในท้องถิ่นจนถึงแบบอย่างแก่เยาวชนในภูมิภาค 3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครู อาจารย์ บุคลากรในสถานศึกษา ในการอนุรักษ์พลังงานด้วยการกำหนดนโยบาย หรือจัดกิจกรรมด้วยรูปแบบและกระบวนการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านพลังงานเป็นแบบอย่างแก่เยาวชน พร้อมทั้งร่วมกันสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีการที่เหมาะสม 4.จัดให้มีกิจกรรมแข่งขันลดการใช้พลังงานในสถานศึกษาทั่วประเทศ ในระดับจังหวัด ภูมิภาค และประเทศ เพื่อส่งเสริมสถานการศึกษาที่มีนโยบายและกิจกรรมรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ผ่านรูปแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์ 5.กระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จะร่วมรณรงค์เผยแพร่ให้ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ และส่งเสริมสถานศึกษาอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ให้เป็นแบบอย่างของสถานศึกษาทั่วประเทศ
ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการ “พลังคิดสะกิดโลก” นับเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง เพราะประเทศจะมีความมั่นคงด้านพลังงานได้ เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน โดยเฉพาะการรู้จักใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ ที่จะต้องมีการปลูกจิตสำนึกตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งในการดำเนินโครงการในครั้งนี้
กระทรวงศึกษาธิการ จะมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานอาชีวศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชน สนับสนุนสถานการศึกษาในสังกัดเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันลดใช้พลังงานในครั้งนี้ รวมทั้งกระตุ้นให้ครู อาจารย์ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม และเสริมสร้างความรู้ด้านพลังงานให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เกิดพฤติกรรมการลดใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการ “พลังงานคิดสะกิดโลก” ว่า โครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมแข่งขันการลดใช้พลังงานในสถานศึกษา แบ่งเป็น 2 ระดับคือ ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่ 1 — 30 พฤศจิกายน 2556 โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า โดยมีรายละเอียดการแข่งขันดังนี้
ระดับจังหวัด - สถานศึกษาจะต้องส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้า เดือนมกราคม—มีนาคม 2557 เพื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าของเดือน มกราคม—มีนาคม 2556 ให้คณะกรรมการพิจารณา คัดเลือกสถานศึกษาที่มีปริมาณลดการใช้พลังงานมากที่สุด ในระดับประถมศึกษา 10 อันดับ และมัธยมศึกษา 10 อันดับเพื่อเข้ารอบในระดับจังหวัด
- สถานศึกษาในระดับประถมศึกษา 10 อันดับ และมัธยมศึกษา 10 อันดับจะต้องนำเสนอแผนการลดใช้พลังงานในสถานศึกษา ต่อคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อคัดเลือกสถาบันที่นำเสนอแผนงานดีเด่นไปแข่งขันสู่ระดับภูมิภาค แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 1 สถาบัน มัธยมศึกษา 1 สถาบัน ซึ่งจะเป็นตัวแทนของจังหวัดไปแข่งขันในระดับภูมิภาค และได้รับทุนการศึกษา สถาบันละ 250,000 บาท
ระดับภูมิภาค - 2 สถาบันแต่ละจังหวัดที่เข้ารอบ นำแผนที่เสนอไปปฏิบัติจริงในระยะเวลา 1 เดือน (มิถุนายน 2557) โดยกรรมการพิจารณาจากคลิปวิดีโอ และรายงานสรุปผลคัดเลือกให้เหลือภูมิภาคละ 3 สถาบัน
- กรรมการแต่ละภูมิภาคลงพื้นที่ตรวจประเมิน โดยพิจารณาจากการนำเสนอและจะคัดเลือกให้เหลือภูมิภาคละ 1 สถาบัน เพื่อเข้าชิงในระดับประเทศ และได้รับทุนการศึกษา สถาบันละ 1,000,000 บาท
ระดับประเทศ - สถาบันที่ได้รับคัดเลือกภูมิภาคละ 1 สถาบัน รวม 6 สถาบันสุดท้าย นำเสนอแผนการดำเนินงานที่กรุงเทพมหานคร และประกาศผลในวันเดียวกัน ได้รับทุนการศึกษา 2,000,000 บาท