ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการปรับตัวอย่างต่อเนื่องของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีฯ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรที่มีความเป็นสากลและการปรับแผนการผลิตพยาบาลเพิ่ม ในการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งส่งผลกระทบกับแวดวงวิชาชีพพยาบาลโดยเฉพาะในประเด็นการสามารถเคลื่อนย้ายพยาบาลได้อย่างเสรี ตามกรอบความร่วมมือ Mutual Recognition Arrangement : MRA ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการไหลเข้าและไหลออกของพยาบาลวิชาชีพในไทย
ล่าสุดโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีฯ ได้เตรียมเปิดตัวหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติใหม่ ในปี 2557 ภายใต้การจัดการศึกษาพยาบาลรูปแบบใหม่ Hybrid Education Model ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในอาเซียนของการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาล ที่เป็นการผสมผสานการเรียนในระบบปกติ กับการเรียนในแบบออนไลน์ ซึ่งประกอบด้วย การเรียนแบบ Online Class ผ่านการเรียนการสอน Face - to - face ในแบบ Teleconference ที่อาจารย์และนักศึกษาสามารถโต้ตอบกันสดๆ ในห้องเรียนแบบเรียลไทม์ การเรียนผ่านระบบ Web-based และการเรียนผ่านซอฟท์แวร์ที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเวลาใดและเรียนที่ไหนก็ได้ หรือที่เรียกว่า Anytime-Anywhere
“ข้อดีของการเรียนระบบนี้นอกจากลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสะดวกสบายสำหรับนักศึกษาที่ทำงานในต่างจังหวัดหรืออยู่ต่างประเทศ นักศึกษายังสามารถทำงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นในพื้นที่ที่ตัวเองสนใจ โดยสามารถรับคำปรึกษาจากอาจารย์ผ่านระบบทางไกลดังกล่าว ซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้ในมิติใหม่” ผศ.ดร.จริยากล่าว
สำหรับการจัดการเรียนการสอนภายใต้ Hybrid Education Model ยังถือเป็นการจัดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่เป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของพยาบาลวิชาชีพไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ และในเวลาเดียวกันยังสามารถรองรับนักศึกษาจากกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับการเรียนการสอนด้านการพยาบาลในประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางการศึกษาด้านการพยาบาลในอาเซียน” (Education Hub) โดยนอกจากหลักสูตรในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกนานาชาติที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีฯเปิดขึ้นเพื่อรองรับการเข้ามาเรียนของนักศึกษาจากอาเซียน โรงเรียนยังได้จัดหลักสูตรระยะสั้น ผ่านศูนย์การฝึกอบรม (Training Center) ในการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านการพยาบาล อาทิ ระบบที่พยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยที่ซับซ้อน ระบบสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถดูแลผู้ป่วยเมื่ออยู่ที่บ้านฯลฯ ซึ่งเป็นผลมาจากงานวิจัยทางคลินิก ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และความรู้ของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีฯ
“ถ้าเทียบกับประเทศในภูมิภาค ไทยถือได้ว่ามีความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอนด้านการพยาบาลมาก โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ก็ได้รับการยอมรับถึงความเป็นเลิศในด้านการบริการสุขภาพ (Service Excellence) เราจึงหวังว่าการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโรงเรียนนอกจากเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของพยาบาลไทย แก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลนแล้วยังสามารถช่วยยกระดับมาตรฐานด้านการพยาบาลในอาเซียนได้อีกด้วย”ผศ.ดร.จริยา กล่าวในที่สุด