- นักลงทุนหวั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับฐานราคา ฉุดความเชื่อมั่นตลาดอสังหาฯ
- นักลงทุนสะสมเงินสด เสี่ยงรับผลตอบแทนต่ำ
- ผลสำรวจของภูมิภาคเอเชียสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยที่ลดลงด้วยเช่นกัน
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์ล่าสุดประจำไตรมาส 3 ระบุว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงมากทั้งภูมิภาคเอเชีย โดยลดลงมากที่สุดที่ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ส่วนฮ่องกงและไต้หวันมีระดับความเชื่อมั่นต่ำที่สุด โดยมีสาเหตุหลักจากความคาดหวังผลตอบแทนที่ลดลงจากภาคตราสารทุนและอสังหาริมทรัพย์
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์ในช่วงสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักลงทุน 3,500 รายใน 7 ตลาดเอเชีย ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน 6 จุด มาอยู่ที่ระดับ 15 จุด ซึ่งแม้จะยังอยู่ในแดนบวก แต่เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำกว่าดัชนีประเภทเดียวกันของแมนูไลฟ์ในสหรัฐ (20 จุด) ซึ่งตกลง 6 จุดในไตรมาสดังกล่าวเช่นกัน ดัชนีชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์ทุกประเภทที่สำรวจค่อนข้างต่ำ โดยความเชื่อมั่นนักลงทุนฮ่องกงต่ำที่สุด (-14 จุด) เป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนในมาเลเซียมีระดับความเชื่อมั่นสูงที่สุด (49 จุด)
“ผลสำรวจเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนทั้งภูมิภาครู้สึกว่าในช่วงนี้จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ นักลงทุนยังลังเล ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี” นาย Robert A. Cook ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (President and CEO) บริษัท Manulife Financial ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าว “ผลสำรวจชี้ชัดว่า นักลงทุนเอเชียไม่ต้องการความตื่นเต้นในการลงทุนมากนัก แต่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนที่มั่นคงสม่ำเสมอ นักลงทุนคิดว่า แนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะในการเก็บออมเพื่อเป้าหมายระยะยาว”
นักลงทุนหวั่นตลาดหุ้นผันผวน แต่ยังนิยมหุ้น
นักลงทุนทั้งภูมิภาคระบุว่า ความผันผวนของตลาดเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ความต้องการลงทุนในหุ้นลดลง นอกจากนี้ ปัจจัยในเรื่องความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐจะลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ได้เพิ่มความกังวลต่อตลาด อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในเชิงลบต่อหุ้นที่สูงขึ้นกลับไม่สะท้อนในรูปการถือครองหลักทรัพย์ลงทุน โดยเมื่อสอบถามว่า สินทรัพย์ประเภทใดที่จะเลือกลงทุนเพิ่มเติม ปรากฏว่า หุ้นก็ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่นิยมสูงสุด
ขณะที่ความเชื่อมั่นต่ออสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงในตลาดส่วนใหญ่เช่นกัน สาเหตุหนึ่งเกิดจากมาตรฐานแทรกแซงภาครัฐเพื่อควบคุมราคาหรือการเพิ่มขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นลดลงมากในอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน ส่วนฮ่องกงมีความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ต่ำที่สุด โดยในตลาดฮ่องกง ความเชื่อมั่นโดยรวมเริ่มติดลบในไตรมาสแรกของปีนี้และลดลงเรื่อยมา มีนักลงทุนกว่าสองในสามเชื่อว่า ราคาปัจจุบันสูงเกินไปและต่อไปน่าจะเกิดการปรับฐานราคา
“ความรู้สึกลังเลของนักลงทุนส่วนใหญ่จะเกิดจากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะลดมาตรการคิวอีและปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ เมื่อรัฐบาลกลางสหรัฐประกาศแผนเริ่มลดปริมาณการซื้อตราสารหนี้ นักลงทุนตราสารหนี้ก็เริ่มขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะตลาดที่มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณ” นาย Ronald CC Chan หัวหน้าฝ่ายตราสารทุนเอเชีย (Head of Equities, Asia) ของ Manulife Asset Management กล่าว “สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ค่าเงินในกลุ่มตลาดดังกล่าวอ่อนค่าลง ประกอบกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีนที่อ่อนแอลงในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อตราสารทุนลดลงในช่วงในไตรมาสที่สาม”
นาย Chan ระบุว่า ความเชื่อมั่นในตราสารทุนยังไม่ฟื้นตัวในหลาย ๆ ตลาดในเอเชีย แต่ราคาหุ้นในหลายตลาดก็น่าสนใจเช่นกัน “ในระยะกลางถึงระยะยาว เราเห็นแนวโน้มสดใส การลดมาตรการคิวอีเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น แต่ธนาคารกลางสหรัฐประกาศแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังต่ำต่อไปเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ทั้งจีน ไต้หวัน และเกาหลีต่างมีค่าดัชนี Flash PMI เดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นบวก นอกจากนี้ รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคก็ยังอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปัญหาเงินเฟ้ออีกด้วย”
นักลงทุนสะสมเงินสด เสี่ยงรับผลตอบแทนต่ำ
ผลที่เกิดขึ้นช่วงนี้ คือ เงินสดยังเป็นสินทรัพย์หลักในภูมิภาค โดยเงินได้บุคคลธรรมดาเฉลี่ยถึง 22 เดือนถือเป็นเงินสด โดยในจีนและสิงคโปร์สูงถึง 35 และ 39 เดือน ตามลำดับ เงินสดมีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 40 ของสินทรัพย์ทั้งหมดของนักลงทุน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนให้ความสำคัญแก่ความมั่นคงปลอดภัยของสินทรัพย์และสภาพคล่องมากเพียงใด
“ทั้งภูมิภาคช่วงนี้ถือเงินสดกันในระดับสูงเกินความจำเป็น” Donna Cotter หัวหน้าฝ่ายบริหารความมั่งคั่งประจำภูมิภาคเอเชีย (Head of Wealth Management, Asia) ของแมนูไลฟ์กล่าว “สำหรับนักลงทุนหลายคนแล้ว นั่นหมายถึงการสูญเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากเงินสดให้ผลตอบแทนต่ำมากเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น ๆ ที่นักลงทุนมีอยู่”
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจบ่งชี้โอกาสที่ดีในการลงทุนเพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเงินสดที่ถืออยู่นั้น มีเพียงร้อยละ 20 ที่ใช้สำรองค่าใช้จ่ายประจำวันหรือค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ที่เหลือส่วนใหญ่ยังสามารถย้ายไปลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นได้ เมื่อสอบถามว่า ปัจจัยใดจะทำให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายเงินสดไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น คำตอบที่ได้รับมากที่สุด คือ ความเป็นไปได้ที่จะได้รับผลตอบแทนในระดับพอสมควรอย่างสม่ำเสมอ (ร้อยละ 47) หรือการรับประกันรายได้ที่แน่นอน (ร้อยละ 41) ซึ่งสะท้อนในรูปความเชื่อมั่นในตราสารหนี้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ
ผลสำรวจของภูมิภาคสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยที่ลดลงด้วยเช่นกัน
ด้านนายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย ผลสำรวจด้านความเชื่อมั่นของหลายสำนักต่างก็สะท้อนความเชื่อมั่นที่ลดลง เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งนอกจากจะเป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังจากที่สภาพัฒน์ได้ประกาศปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2556 เหลือ 3% โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเพียงแค่ 1% ขณะที่การส่งออกในปี 2556 อาจจะขยายตัวในระดับ 0%
“ถึงแม้เราจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่การจัดสรรการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนยังคงเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งเรายังเชื่อมั่นว่า การลงทุนในหุ้นยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ในระยะยาว แม้ว่าปีนี้จะไม่ใช่ปีที่ดีนักของตลาดหุ้นไทย แต่การลงทุนในหุ้นในลักษณะของการทยอยเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ ที่จะทำหน้าที่กลั่นกรองหุ้นคุณภาพในการเข้าลงทุน และกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ก็ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยหรือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ”
สำหรับกองทุนตราสารทุนภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) นั้น ที่ผ่านมา ผลตอบแทนถือว่า อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ของกองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตร็งค์ อิควิตี้ แวลู อยู่ที่ 16.23% (vs SET Index 4.52%) กองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตร็งค์ อิควิตี้ ปันผล อยู่ที่ 15.17% (vs SET50TR Index 8.14%) กองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตร็งค์ เอเชียน สมอลแคป อิควิตี้ เอฟไอเอฟ อยู่ที่ 19.75% (vs MSCI AC Asia Pacific ex JP Index 5.42%) และกองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตร็งค์ อเมริกัน โกรท เอฟไอเอฟ อยู่ที่ 24.51% (vs S&P500 Index 27.52%)
สำหรับผลสำรวจเพิ่มเติมและข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ในเอเชีย กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.manulife-asia.com