นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง กับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่า นับวันสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(Climate Change) ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศและฤดูกาลแปรปรวน ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ลานีญ่า ฝนทิ้งช่วง เกิดภัยแล้งยาวนาน และเกิดพายุขนาดใหญ่ สร้างความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจและเกษตรกรคิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
จากสถานการณ์ดังกล่าว ในฐานะที่กำกับดูแลกรมประมงได้มอบหมายให้กรมประมงจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อร่วมดำเนินโครงการบูรณาการข้อมูลสำหรับแจ้งเตือนภัยด้านการประมง ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2560 โดยมี แผนบูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการเตือนภัย การฝึกอบรมเกษตรกร การสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยพิบัติ สำหรับเป็นเครื่องมือในการแจ้งเตือนภัยแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการประมง
ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนการเกิดภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ล่วงหน้า ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถเตรียมการรองรับสถานการณ์ได้ทัน ทั้งยังช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชาวประมง อีกทั้งยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ประสบภัยด้านการประมงด้วย
“สำหรับปีนี้ กรมประมงได้สำรวจและจัดเก็บข้อมูลพิกัดฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวนกว่า 500,000 ฟาร์ม ซึ่งสามารถบูรณาการข้อมูลดังกล่าวร่วมกับเทคโนโลยีการติดตาม การตรวจสอบและการพยากรณ์การเกิดภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์” นายศิริวัฒน์ กล่าว
นายศิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระยะแรกโครงการฯ นี้ได้มีแผนสร้างองค์ความรู้ในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีการถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแก่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย อาทิ เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัย ชาวประมง ประมงอาสา เป็นต้น โดยจะคัดเลือกจังหวัดต้นแบบ 1 จังหวัด จากนั้น ในระยะที่ 2 จะขยายผลต้นแบบให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งความร่วมมือในการบูรณาการข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนภัยด้านการประมง ดังกล่าวนี้ จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ทำให้เกษตรกรและชาวประมงแต่ละพื้นที่สามารถเตรียมรับมือกับสถานการณ์ได้ทัน ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายให้น้อยลงได้ หรืออาจลดความสูญเสียได้ทั้งหมด