จากงานสัมมนาสัญจรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้ หรือ Horti ASIA on the Move และงานสัมมนาสัญจรด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิต การแปรรูปปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ หรือ ILDEX Thailand on the Move ครั้งแรกสรุปได้ว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ มีการรวมกลุ่ม สหกรณ์ เพื่อรวบรวมผลผลิตและส่งออก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แต่เริ่มมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ค่าจ้างแรงงานสูง จึงมีแนวโน้มในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น เพื่อการจัดการที่ดี ลดต้นทุนและเพิ่มผลิต
คุณลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด เปิดเผยว่า “งานสัมมนาสัญจรในวันนี้ จัดขึ้น เพื่อต่อยอดความรู้ และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ แก่ผู้ประกอบการ และเกษตรกรในต่างจังหวัด เน้นให้เกษตรกรมีความรู้ และก้าวทันเทคโนโลยี โดยเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับตนเอง นำไปพัฒนาธุรกิจให้เร็วที่สุด เพราะเมื่อ AEC มาถึง เกษตรกรจะได้มีวิธีการจัดการที่เหมาะสมเตรียมไว้แล้ว”
คุณสุวรรณ ยิ้มเจิรญ ผู้แทนจากนิตยสารอวาบิส บรรยายในหัวข้อ “การสร้างระบบเซมิฟล็อคเลี้ยงฝ่าอีเอ็มเอส” เน้นการแก้ปัญหาจากโรคการตายเฉียบพลันในกุ้ง โดยสาเหตุที่ทำให้กุ้งในปัจจุบันอ่อนแอเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กุ้งจึงปรับตัวไม่ได้ ติดเชื้อได้ง่ายและมีโอกาสตายสูง ในส่วนของการจัดการมี 2 — 3 วิธี วิธีที่ใช้มากที่สุด การอนุบาลลูกกุ้งแบบระบบเซมิไบโอฟล็อค ซึ่งระบบนี้จะทำให้สภาพแวดล้อมในบ่อนิ่ง ทำให้ลูกกุ้งสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ จนถึงเกณฑ์ที่โตพอที่จะไม่ติดเชื้อแล้ว ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การหาสมดุลในบ่อให้เจอ และทำให้ระบบพีดีเอชนิ่งตลอดทั้งวัน ซึ่งจะทำให้ระบุบสมดุลโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงต้องมีประสบการณ์อย่างมาก นอกจากนี้คุณสุวรรณยังให้ข้อคิดในเรื่องของการเลี้ยงกุ้งแบบพอเพียง โดยที่ไม่ต้องผ่านการกู้ยืมเงินอีกด้วย
คุณปริญญา ชุมรุม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและวิจัยตราสินค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บรรยายในหัวข้อ “การตลาด การประชาสัมพันธ์ และการสร้างแบรนด์สำหรับสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรปศุสัตว์ ” ซึ่งเน้นเรื่องการทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในตลาด โดยการสร้างแบรนด์ต้องเริ่มจากการสร้างภาพลักษณ์และเรื่องราวทำให้น่าดึงดูดใจผู้พบเห็น มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ดึงจุดเด่นของสินค้านั้นๆ ออกมา รวมถึงการนำเสนอการขายซึ่งจะนำไปสู่ผลสำเร็จในธุรกิจ นอกจากนี้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือ Packaging ก็มีผลอย่างมากกับการเพิ่มมูลค่าสินค้า และจะต้องสื่อสารกับลูกค้าอย่างถูกต้องเพื่อให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจ และกลับมาซื้อสินค้าอีก
คุณสมหมาย คล้ายบ้านใหม่ ผู้แทนจากสมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่ บรรยายหัวข้อ “ไก่ดีเมืองคอน ทนโรค ไข่ดก น้ำหนักดี ฝ่าวิกฤตราคา” ซึ่งคุณสมหมายบรรยายถึงจุดประสงค์ของการปรับปรุงสายพันธุ์ไก่ เพื่อให้ได้พันธุ์สัตว์ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถเลี้ยงในแบบธรรมชาติในรูปแบบการเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์ ทำให้ไก่สายพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่เดิม มีการเจริญเติบโตที่เร็วขึ้น ให้ไข่ที่มากและมีคุณภาพขึ้น แต่ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นลง นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรรายย่อยอีกด้วย
ดร.แสนศักดิ์ นาคะวิสุทธิ์ ผู้แทนจากสำนักพัฒนาปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ บรรยายในหัวข้อ “การเพิ่มผลผลิตแพะเนื้อให้ได้มาตรฐานและเพียงพอต่อความต้องการในตลาด AEC” โดย ดร.แสนศักดิ์ อธิบายเรื่องการเข้าสู่สถานการณ์แพะของโลก โดยตั้งแต่ปี 2004 — 2011 สถานการณ์แพะในไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ มีปริมาณแพะเพิ่มขึ้นถึง 140 เปอร์เซ็น ในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ ดร.แสนศักดิ์ยังเล่าถึงสถานการณ์ปศุสัตว์ในไทย และแนวทางการพัฒนาสายพันธุ์แพะเพื่อการเลี้ยงเชิงพานิชย์อีกด้วย
Mr. Jan Hoogewoning จากประเทศเนเธอร์แลนด์ บรรยายหัวข้อ “เทคโนโลยีทางการเกษตรของประเทศเนเธอร์แลนด์” มุ่งเน้นเพื่อให้มีโรงเรือนเพิ่มมากขึ้นในไทย Mr. Jan เล่าถึงความสำคัญของการสร้างโรงเรือนและวิธีดูแล เพื่อยกระดับผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น มีมูลค่าสูงขึ้นในตลาด และทำให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมผลผลิตให้ออกผลนอกฤดูกาลได้ นอกจากนี้ผลผลิตที่ได้ยังเป็นออแกนิกที่ปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นที่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในท้องตลาดขณะนี้
คุณสุทธิชัย เตชนะรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอพีที โชว์เฟรท (ประเทศไทย) จำกัด บรรยายในหัวข้อ “การจัดการขนส่งและกระจายสินค้าเกษตร” กล่าวถึงกลยุทธ์ และความสำคัญของโลจิสติกส์ ซึ่งปัจจุบันนี้ลูกค้าในท้องตลาดมีความต้องการให้ผู้ประกอบการตอบสนองอย่างรวดเร็ว การขนส่งจึงมีผลและมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงต้นทุน ความยืดหยุ่น และความสารถในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ นอกจากนี้ คุณสุทธิชัยยังพูดถึงปัจจัยต่างๆ ที่สามารถมีผลกระทบต่อการขนส่งอีกด้วย