เอชไอวี เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องในคน ส่วนโรคเอดส์ หมายถึงกลุ่มอาการของภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ได้เป็นแต่กำเนิด ปัจจุบันนี้การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและประเทศไทย จากรายงานขององค์การอนามัยโลกคาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกประมาณ 35 ล้านคนเมื่อสิ้นปีพ.ศ. 2555 สำหรับในประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบ 6 แสนคน และเสียชีวิตประมาณ 3 หมื่นคน ความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีเท่ากับร้อยละ 1.4 แต่ในความเป็นจริงคาดว่ามีผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 1 ล้านคนตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศเมื่อปีพ.ศ. 2530 การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เป็นโรคที่รักษาได้แต่ไม่หายขาด เป็นโรคติดต่อเรื้อรังเหมือนโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน แต่ 2 โรคหลังนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ ทางหลักของการติดต่อที่พบมากที่สุดในประเทศไทยคือ ทางเพศสัมพันธ์ทั้งที่เป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ส่วนการติดต่อทางอื่นที่พบได้คือ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน รวมถึงการสักและจากมารดาสู่ทารก หลังจากได้รับเชื้อเอชไอวีในช่วงแรกผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้ ผู้ติดเชื้อครึ่งหนึ่งอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นเองแม้ไม่ได้รับการรักษาและจะเข้าสู่ระยะติดเชื้อที่ไม่มีอาการ แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการแบ่งตัวตลอดเวลาจึงทำให้เม็ดเลือดขาวซีดีสี่ ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ระยะมีอาการเช่น น้ำหนักลด, ฝ้าขาวในปาก, ท้องเสียเรื้อรังหรือมีตุ่มคันขึ้นตามแขนขา และระยะสุดท้ายคือ เอดส์ ซึ่งเป็นระยะที่เม็ดเลือดขาวซีดีสี่ต่ำมากและหรือมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อนเช่น วัณโรคหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา เป็นต้น ซึ่ง 2 ระยะหลังนี้ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี
นอกจากการให้ยาเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ภูมิคุ้มกันต่ำมากแล้ว หัวใจสำคัญที่สุดของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีคือ การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวี การใช้ยาอย่างน้อย 3 ชนิดรวมกันเป็นสูตรยาที่เหมาะสมและถูกต้อง จะนำไปสู่การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีที่ควบคุมได้คือ ไม่สามารถตรวจพบไวรัสในเลือด ทำให้มีภูมิคุ้มกันดีขึ้นหรือจำนวนเม็ดเลือดขาวซีดีสี่สูงขึ้น มีอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสลดลง อัตราตายลดลงและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากยังไม่มียาต้านเอชไอวีชนิดใดที่สามารถรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดหรือยับยั้งการดำเนินของโรคได้นานตลอดไป ดังนั้นผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงต้องกินยาทุกวันตลอดชีวิต ในปัจจุบันได้มีการพัฒนายาชนิดใหม่ๆ ที่กินง่าย มีผลข้างเคียงน้อย หรือเป็นแบบรวมเม็ดที่กินวันละ 1 เม็ด และมีราคาถูกลงกว่าเดิมมาก รวมไปถึงมีการพัฒนารูปแบบยาให้เป็นแบบฉีดและยาที่ออกฤทธิ์ในนาน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยที่จะพยายามทำให้โรคหายขาด ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 หลักการที่อาจจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้คือ การรักษาเร็วตั้งแต่ที่มีการติดเชื้อใหม่ๆ แต่ปัญหาคือผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ทราบว่าตนเองติดเชื้อเมื่อมีอาการหรือติดเชื้อมานานแล้ว และการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งทั้ง 2 หลักการนี้ยังคงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
เนื่องจากการติดเชื้อเอชไอวียังเป็นโรคที่ยังรักษาไม่หายขาดในขณะนี้ การป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ วิธีที่ยังมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์คือ การใช้ถุงยางอนามัย ทั้งถุงยางอนามัยสำหรับเพศชายและถุงยางอนามัยสำหรับเพศหญิง แต่ถุงยางอนามัยสำหรับเพศหญิงนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากมีราคาแพงและใช้ไม่สะดวก ส่วนการป้องกันการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกคือ การให้ยาต้านเอชไอวีแก่มารดาที่ติดเชื้อและการให้ยาในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งมีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารกได้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 2 แต่ปัญหาที่พบคือ มารดามาฝากครรภ์ช้าหรือไม่ได้ฝากครรภ์ จึงไม่ได้รับยาต้านเอชไอวีเพื่อการป้องกัน จึงยังพบเด็กที่มีการติดเชื้อรายใหม่อยู่เรื่อยๆ การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดคือ การใช้เข็มฉีดยาที่สะอาดและไม่ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น แต่การที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงเป็นข้อมูลที่แสดงว่ามีการใช้ถุงยางอนามัยลดลง ผู้วิจัยหลายกลุ่มจึงได้มีการพัฒนาและวิจัยวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีใหม่ๆ เพื่อเสริมกับประสิทธิภาพของการใช้ถุงยางอนามัย โดยในช่วง 2-3 ปีนี้มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์หลายการศึกษาโดยเฉพาะการใช้ต้านเอชไอวีที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นเครื่องมือในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนที่จะได้รับเชื้อในผู้ที่มีความเสี่ยง
มีหลายการศึกษาที่แสดงว่าเมื่อผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเช่น เป็นชายรักชาย ผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีดหรือผู้ที่ยังไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีแต่มีคู่ที่ติดเชื้อเอชไอวี กินยาต้านเอชไอวีชนิดเดียวกับที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะมีการติดเชื้อเอชไอวีลดลง โดยยาต้านเอชไอวีมีประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 40-50 แต่การกินยาต้านเอชไอวีนี้เป็นการป้องกันเสริมหรือร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนายาต้านเอชไอวีเป็นรูปแบบเจล เพื่อให้ผู้หญิงที่ยังไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีใช้ใส่เข้าไปในช่องคลอด ทั้งก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องมือป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างแรกที่ผู้หญิงสามารถเลือกใช้ได้ในกรณีที่ผู้ชายไม่ยอมใส่ถุงยางอนามัย แม้ว่าประสิทธิภาพของเจลชนิดนี้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีไม่สูงมากคือ ประมาณร้อยละ 40 และยังขึ้นกับความสม่ำเสมอในการใช้เจล นอกจากนี้ยังมีหลักการที่ใช้ยาต้านเอชไอวีรักษาผู้ติดเชื้อและในขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีไปสู่คู่ที่ยังไม่ได้ติดเชื้อ หมายถึงเมื่อให้การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีคนนั้นๆ แล้ว จะทำให้ปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดลดลง ส่งผลให้ปริมาณเชื้อเอชไอวีในสิ่งคัดหลั่งที่อวัยวะเพศลดลง และลดการติดต่อของเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งหลักการนี้สามารถลดการติดเชื้อไปสู่คู่ที่ยังไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีได้สูงถึงร้อยละ 96 ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
โดยสรุป การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์สามารถป้องกันได้ โดยการลดพฤติกรรมเสี่ยง และการป้องกันโดยวิธีต่างๆ ที่ขึ้นกับพฤติกรรมเสี่ยงนั้น ในปัจจุบันยังมีการศึกษาวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ รวมไปถึงการวิจัยที่จะทำให้การรักษาเป็นแบบหายขาด อย่างไรก็ตามผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยช้า ไม่ได้มีการตรวจเลือดคัดกรองโดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยง รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลให้ได้รับการรักษาช้า ซึ่งอาจจะทำให้มีผลการรักษาที่ไม่ได้หรือเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนตามมา
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
ธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง)
โทร. 0 2439 4600 ต่อ 8202
อีเมล : [email protected]